สพฐ.เปิดผลประเมิน RT, NT, O-NET กลุ่มโรงเรียนคุณภาพ

เลขาธิการ กพฐ. ใจผลประเมิน RT, NT, O-NET นักเรียนกลุ่มโรงเรียนคุณภาพ ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกวิชา สั่งนำผลปรับแผนกลยุทธ์การสอน พร้อมให้การสนับสนุนที่เฉพาะเจาะจงในด้านที่ต้องพัฒนา

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประเมินคุณภาพผู้เรียน ของโรงเรียนในโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” โดยประเมินความสามารถด้านการอ่านของนักเรียน (RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ (ป.)1 ประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ (ป.)3 ปีการศึกษา 2566 รวมทั้งสิ้น 905 โรงเรียน จำแนกเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) 901 โรงเรียน และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 4 โรงเรียน รวมถึงประเมินผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ปีการศึกษา 2566 ของโรงเรียนคุณภาพ สังกัด สพป. 901 โรงเรียน และ สังกัด สพม. 907 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 1,808 โรงเรียน โดยเปรียบเทียบผลการทดสอบ O-NET ระหว่าง “โรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” กับระดับ สพฐ. และระดับประเทศ พบว่า ผลทดสอบ O-NET ชั้น ป.6 ชั้น ม.3 และ ชั้น ม.6 ของผู้เรียนในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพ ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกวิชา

เลขาธิการ กพฐ กล่าวต่อไปว่า ส่วนผลการประเมิน RT นักเรียนชั้น ป.1 ด้านการอ่านออกเสียง และด้านการอ่านรู้เรื่อง พบว่า รวมทั้ง 2 ด้าน ได้ 79.92 คะแนน มีค่าคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าระดับ สพฐ. และระดับประเทศ ประมาณร้อยละ 1 โดยนักเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.72 มีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า การอ่านออกเสียง อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 75.06 ระดับดี 22.17 พอใช้ 2.50 และปรับปรุง 0.24 ส่วนการอ่านรู้เรื่อง อยู่ในระดับดีมาก 69.28 ระดับดี 29.90 และพอใช้ 0.81 สำหรับผลการประเมิน NT ภาษาไทย และ คณิตศาสตร์ นักเรียนชั้น ป.3 พบว่า รวมทั้ง 2 ด้าน ได้ 56.35 คะแนน มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าระดับ สพฐ. ร้อยละ 0.30 และต่ำกว่าระดับประเทศ ร้อยละ 1.43 แต่เมื่อจำแนกตามระดับคุณภาพในภาพรวม พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีคุณภาพอยู่ในระดับดี ร้อยละ 33.43 โดยภาษาไทย อยู่ในระดับดีมาก 40.69 ระดับดี 30.24 พอใช้ 19.13 และปรับปรุง 9.94 และคณิตศาสตร์ นักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 31.08 ระดับดีมาก 29.32 ระดับดี 26.91 และปรับปรุง 12.69

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ผลคะแนน O-NET ชั้น ป.6 รวม 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ พบว่า โรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพ มีคะแนนรวมเฉลี่ยสูงกว่าระดับ สพฐ. แต่ต่ำกว่าระดับประเทศ โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ ใน 2 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ และต่ำกว่าระดับประเทศ ใน 2 วิชา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ส่วนผล O-NET ชั้น ม.3 โรงเรียนคุณภาพ สังกัด สพป.ทั้ง 4 วิชา มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าระดับ สพฐ.ร้อยละ 3.12 และต่ำกว่าระดับประเทศ ร้อยละ 2.86 ส่วนโรงเรียนคุณภาพสังกัด สพม.มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับ สพฐ. ร้อยละ 0.40 และสูงกว่าระดับประเทศ ร้อยละ 0.66 ทั้งนี้ วิชาภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าระดับประเทศ

“สำหรับผล O-NET ชั้น ม.6 ประเมิน 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ โรงเรียนคุณภาพ สังกัด สพป.ในภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าระดับ สพฐ. ร้อยละ 2.64 และต่ำกว่าระดับประเทศ ร้อยละ 1.91 ส่วนโรงเรียนคุณภาพ สังกัด สพม.มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าระดับ สพฐ. ร้อยละ 0.35 แต่สูงกว่าระดับประเทศ ร้อยละ 0.38 โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ ใน 3 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษาฯ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งผมได้มอบหมายให้นำผลการประเมิน RT ผลการประเมิน NT และ ผล O-NET ไปสู่การวางแผนเพื่อพัฒนาความสามารถของนักเรียนตามการจำแนกระดับคุณภาพ โดยยกระดับความสามารถจากระดับปรับปรุง พอใช้ ให้เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับดี ดีมาก ตามลำดับ ซึ่งต้องมีการตั้งเป้าหมายและการวางแผนที่ชัดเจน มีการปรับปรุงกลยุทธ์การสอนที่เหมาะสม และให้การสนับสนุนที่เฉพาะเจาะจงในด้านที่นักเรียนต้องการพัฒนา รวมไปถึงมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนของโครงการโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย ‘1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ’ ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.