ทึ่ง! ผลงานอาชีวะพัฒนาเด็กพิเศษ “นวัตกรรมพร้อมใช้สู่ชุมชน” ฝีมือ วท.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา เป็นประธานมอบนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นางอำไพพิศ บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้รับมอบ ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจกับนักศึกษา โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประเสริฐ แสงโป๋ อาจารย์ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม นักศึกษา และคณะครู นักกายภาพบำบัด ร่วมพิธี ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายนิรุตต์ บุตรแสนลี กล่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับผู้เรียนอาชีวศึกษา พร้อมส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนด้านงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ในแนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ การจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษายุคใหม่โดยใช้การวิจัยและพัฒนา จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ นำนักศึกษาออกจากห้องเรียนสู่สังคม ชุมชน เพื่อรับรู้ปัญหาในพื้นที่และช่วยแก้ปัญหาโดยการนำวิชาชีพที่เรียนมาประยุกต์สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งนอกจากจะพัฒนาตนเองให้เกิดทักษะวิชาชีพแล้ว ยังทำให้เกิดทักษะชีวิตตามมาด้วย วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษฯ สร้างเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กพิเศษในศูนย์การศึกษาพิเศษ ฯ

ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นนี้ เป็นผลงานของนักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง ระดับ ปวส. โดยได้นำโครงงานจากการเรียนมาวางแผน สร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นยังมีโอกาสทำงานร่วมกับผู้อื่น ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลาย มีจิตที่เป็นสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่น มีผลงานที่นำมามอบจำนวน 2 ชิ้น ได้แก่ 1. เครื่องพัฒนาการนั่ง ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ใช้ในการนั่ง กล้ามเนื้อคอ การทรงตัว และกระตุ้นการทำกิจกรรมของเด็ก 2. เครื่องกายภาพบำบัดการยืนและเดิน ช่วยฟื้นฟูการยืนและเดินของเด็กพิเศษจากระบบประสาท ใช้สั่งการกล้ามเนื้อขา และพัฒนาการเดิน การทรงตัว กระตุ้นการเคลื่อนไหว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัวและขา ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งมอบให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษฯ นี้ ผ่านการควบคุมภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด จึงตอบโจทย์และเป็นตัวช่วยในการบำบัดและฟื้นฟูให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

ด้าน ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ชื่นชมการทำงานร่วมกัน ระหว่าง ศูนย์การศึกษาพิเศษฯ และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นความร่วมมือที่ดีอย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาเด็กที่มีปัญหาทางกายภาพ ให้มีพัฒนาการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อได้มาเห็นสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนอาชีวะ มูลนิธิฯ จะช่วยส่งเสริม หาช่องทางและความร่วมมือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความพร้อม เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มีคุณภาพและมีปริมาณมากขึ้น ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท การที่อาชีวะสร้างคนให้มีความรู้ มีทักษะเพื่อไปแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มหาศาลกับสังคม การคิดค้นสิ่งใดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อทำแล้วโอกาสแห่งความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น ผู้ทำสิ่งประดิษฐ์ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ มั่นใจ พร้อมที่จะประกอบอาชีพได้ในอนาคต ที่สำคัญจะเป็นคนที่มีจิตสาธารณะอาสาช่วยเหลือผู้อื่น การเรียนสายอาชีวะถือได้ว่าตอบโจทย์การมีงานทำ และสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ