สพฐ. ร่วมประชุมรับมอบนโยบาย รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. สมัยที่ 2 สานต่อ “เรียนดี มีความสุข” เดินหน้าเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime นำ AI เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เน้นการศึกษาเท่าเทียม ย้ำผู้บริหารยึดคุณธรรม จริยธรรม นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น

วันที่ 16 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เข้าร่วมการประชุมมอบนโยบายการศึกษาและและแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศธ. และ รมช.ศธ.อีกสมัยหนึ่ง โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ผู้บริหารส่วนกลาง เข้าร่วมรับฟังนโยบาย ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting และการถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การศึกษา ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ศธ. มุ่งมั่นใช้การศึกษาพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบการดำเนินงาน การทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตนยึดแนวทางในการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ซึ่งผู้บริหารและข้าราชการทุกคน ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อให้เรื่องการศึกษาไปสู่พี่น้องประชาชน ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา ศธ. ได้วางรากฐานและปรับระบบการศึกษาให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงตามบริบทโลกแล้ว นโยบายการศึกษาของตนยังคงเป็น “เรียนดี มีความสุข” คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต โดยการจะมีความสุขได้ก็ต้องลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งหลายเรื่องได้ดำเนินไปแล้ว เช่น การยกเลิกครูเวร การจัดหานักการภารโรง การจัดหาอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนขยายโอกาส เป็นต้น

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นโยบายและแนวทางการทำงานในสมัยที่ 2 ยังเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าที่ทำมาเรามาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่ดีพอและไม่สมบูรณ์พอ ดังนั้นจะดำเนินการขับเคลื่อนต่อเนื่องต่อไป เช่น เรื่องลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่องวิทยฐานะจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพมากขึ้นตอบสนองกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ต้องทำด้วยความตั้งใจจริงมุ่งมั่น เรื่องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดหาเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนเกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา Anywhere Anytime ได้มีการมอบนโยบายในระดับโรงเรียนแล้วซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี

“สิ่งที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษ คือ เรื่องการศึกษาเท่าเทียม ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ก็จะต้องมาดำเนินการให้เกิดความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการศึกษาตลอดชีวิต ที่จะต้องทำให้มีความเท่าเทียมในการดำเนินการ หากจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบ กฎหมาย ก็จะดำเนินการ นอกจากนี้จะเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะ AI มาใช้ในการเรียนการสอน พร้อมทั้งกำชับให้มีการปลูกฝังเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ยังมีจุดเน้นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งผมมอบเป็นนโยบายให้ผู้บริหารนำเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาลมาใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น ปีที่ผ่านมาผมเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ปีนี้จะต้องเข้มข้นมากขึ้น โดยนำเรื่องหลักธรรมาภิบาลมาใช้ด้วย และสิ่งที่ผมเน้นย้ำให้ผู้บริหารทุกคนนำไปปฏิบัติด้วย คือ เรื่องการตรวจราชการและการตรวจเยี่ยมต่างๆ ให้เป็นไปอย่างประหยัดเรียบง่าย จะต้องไม่สร้างภาระให้ผู้รับการตรวจเยี่ยม ให้อยู่เฉพาะผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องก็ขอร้องว่าไม่ต้องมา ไม่ปูผ้า ไม่จัดเลี้ยง ไม่ขึ้นป้ายต้อนรับ ไม่ต้องมีของฝาก ไม่ต้องมีสิ่งใดทั้งสิ้น ขอให้ตั้งใจทำงาน ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การศึกษาที่มีคุณภาพได้” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

ทั้งนี้ ในการก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคและความท้าทายทางการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เครือข่ายการศึกษา เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและท้าทายการดำเนินงานของ ศธ. ด้วยเช่นกันการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนส่งเสริมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาควิชาการ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานระหว่างประเทศด้วย