วันที่ 16 กันยายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดเชียงราย รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการแก้ไขปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงให้ทุกภาคส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามข้อสั่งการ
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความห่วงใย ครู นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทุกส่วน รวมไปถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ จากการลงพื้นของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการตรวจเยี่ยมพื้นที่ สถานศึกษาที่ได้รับความเสียหาย และให้กำลังใจนักเรียน นักศึกษา จังหวัดเชียงราย โดย สอศ. ได้สั่งการเร่งด่วนไปยังสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) รวมถึงในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย กำหนดแนวปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเตรียมการรับมือ เฝ้าระวังป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดต่อเนื่องจากจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ซึ่งแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 1 เร่งด่วน ทำทันที ให้สอจ. เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา จัดถุงยังชีพ และโรงครัวอาชีวะ แจกอาหาร น้ำดื่ม มอบให้ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ให้ทั่วถึงทันที ซึ่งได้มอบและถุงยังชีพไปแล้วในบางพื้นที่และจะมอบต่อไปให้ทั่วถึง ส่วนระยะ 2 แผนการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟู เร่งด่วน ให้ สอจ.ใกล้เคียง จัดตั้งศูนย์บริการ fix it center ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ให้เพียงพอต่อความต้องในการบริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างๆ เครื่องมือการเกษตร รถจักรยานยนต์ เป็นต้น รวมถึงช่วยขนย้ายสิ่งของ ซ่อมแซม ฟื้นฟูอาคารสถานที่ของสถานศึกษาในสังกัด สอศ. สถานศึกษา อื่นๆ และบ้านเรือน ทันที
ซึ่ง ขณะนี้ มีรายงานถึงมวลน้ำได้เข้าสู่จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ แล้ว โดย สอศ. กำชับให้ สอจ. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชน ชุมชน ครู นักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้ากรณีเกิดเหตุ รวมถึงการจัดศูนย์เฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ซึ่งอาจขยายวงกว้างไปในจังหวัดใกล้เคียงหรือพื้นที่เสี่ยง พร้อมรายงานสถานการณ์ แบบเรียลไทม์ กลับมายัง สอศ. ทันที ซึ่งหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย สอศ. ได้วางแผนเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติฉบับเร่งด่วนในสถานศึกษา และงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมส่วนที่เกิดความเสียหาย รวมถึงการให้ความรู้ในการดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าแก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้คำนึงถึงความปลอดภัยต้องมาก่อน
ขอให้มั่นใจว่า กระทรวงศึกษาธิการ “อาชีวะอาสา” จะเข้าช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ชุมชน สถานศึกษา และอื่นๆ ที่สามารถทำได้เพื่อผู้ได้รับผลกระทบกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก แต่อาชีวะเราจะทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เราไม่ทิ้งกันและให้ความช่วยเหลือกันต่อไป