ปลูกไผ่เลี้ยงหวานแซมยางพาราทำเงินแสนต่อปี อาชีพเสริม เพิ่มรายได้ สมาชิกสหกรณ์ห้วยยอด จำกัด จังหวัดตรัง

ราคาปาล์มร่วง ราคายางตกช่วงนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ใด ๆ สำหรับนายสมศักดิ์ ใสเพี๊ย เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด เจ้าของสวนไผ่เลี้ยงหวานแห่งบ้านต้นโพธิ์ ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ที่ปลูกไผ่แซมยางพาราเป็นอาชีพเสริม บนเนื้อที่ 20 ไร่ จนสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 2-3 หมื่นบาทต่อเดือนจากการจำหน่ายหน่อและลำไผ่ โดยมีตลาดหลักเจ้าของฟาร์มเลี้ยงกุ้งในจังหวัดตรังและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนหน่อไผ่จำหน่ายที่ตลาดในหมู่บ้าน

โดยจุดเริ่มต้นของการปลูกไผ่เลี้ยงหวานของเขามาจากการให้คำปรึกษาแนะนำของเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด เมื่อ 5 ปีก่อน ที่ต้องการให้สมาชิกสหกรณ์ฯ มีรายได้เสริม โดยไม่หวังพึ่งพาอาชีพหลักจากราคายางเพียงอย่างเดียว พร้อมแนะนำให้ทำเรื่องขอกู้เงินผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ (เสริม) สมาชิกสหกรณ์ได้ หากไม่มีเงินทุนเพียงพอ โดยสามารถรณรงค์หาเสียงขอกู้ปีต่อปี ไม่มีอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท

“ไผ่เลี้ยงหวานสีทองปลูกมา 12 ปีแล้ว ปลูกในร่องยาง เนื้อที่ 20 ไร่ ปีนี้กู้สหกรณ์มา 1 แสน ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 200 ต้น ปลูกขายหน่อที่ตลาดใกล้บ้านกิโลละ 60 บาท ส่วนลำต้นขายให้นากุ้ง เมตรละ 8 บาท ตัดขายเฉลี่ยสัปดาห์ละ 800 ต้น ส่งให้เจ้าของนากุ้งทั้งในตรังและจังหวัดใกล้เคียง เขาบอกว่าใช้ไม้ไผ่ต้นทุนจะถูกกว่า ทนทาน มีอายุใช้นาน 5-6 ปี เฉพาะไผ่รายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20,000 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนเงินที่กู้มาจะเป็นค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าวางท่อน้ำ ตอนนี้พื้นที่แถวนี้มีคนปลูกไผ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทำรายได้ดี ใช้เวลาปลูกแค่ 8 เดือนก็เก็บหน่อ ตัดลำต้นขายได้แล้ว” นายสมศักดิ์ ใสเพี๊ย เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด เผยการปลูกไผ่เลี้ยงหวานเป็นอาชีพเสริม

นางสาวพิมศิกรณ์ คีรีรักษ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด กล่าวถึงนายสมศักดิ์ ใสเพี๊ย เกษตรกรสมาชิกที่ปลูกไผ่เลี้ยงหวานว่า เป็นตัวอย่างเกษตรกรสมาชิกที่ดีในการมุ่งมั่นทำอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ด้วยการปลูกไผ่เลี้ยงหวาน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ (เสริม) แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ โดยนายสมศักดิ์ได้ทำเรื่องขอกู้กับสหกรณ์เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา วงเงิน 100,000 บาท เพื่อนำมาลงทุนต่อยอดขยายพื้นที่ปลูกไผ่เลี้ยงหวานแซมยางพารา โดยกู้มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งเป็นเงินกู้ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ (เสริม) สมาชิกสหกรณ์ โดยวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลากู้ปีต่อปี โดยไม่มีดอกเบี้ยแต่อย่างใด

“จุดเริ่มต้นเลยจะทำอย่างไรให้สมาชิกมีรายได้เพิ่ม นอกจากอาชีพหลักยางและปาล์ม เป้าหมายเราอยากให้สมาชิกชำระหนี้ได้ แต่ไม่อยากให้มีรายได้ทางเดียว เพราะยางและปาล์มราคาก็ไม่แน่นอน จากนั้นได้มีการประชุมร่วมกันว่าใครอยากมีอาชีพเสริมอะไรก็เสนอโครงการเข้ามา บางรายก็ปลูกพืชผัก ทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปศุสัตว์ เลี้ยงหมู ไก่ไข่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ บางรายก็ปลูกไผ่ ซึ่งโครงการนี้สหกรณ์ได้ดำเนินการ 5 ปีแล้ว มีสมาชิกมาขอกู้เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปีที่แล้วขอมา 74 ราย ปีนี้มีเพิ่มขึ้นเป็น 94 ราย วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 แสน โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย ทุก ๆ ปีจะตั้งงบไว้ที่ 1 ล้าน แต่ปีนี้เพิ่มเป็น 5 ล้าน เพราะสมาชิกสนใจเยอะขึ้น เป็นงบของสหกรณ์ฯ เราเอง ไม่ได้กู้จากภายนอก” ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด ระบุ

เธอยังกล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ว่า การยื่นของกู้ของสมาชิกแต่ละรายจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบและลักษณะโครงการฯ ซึ่งจะมีคณะกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณา โดยก่อนจะอนุมัติเงินกู้นั้นจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจก่อน เพื่อดูความเป็นไปได้สอดคล้องกับจำนวนเงินที่กู้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกขอกู้วงเงินต่ำสุดอยู่ที่ 8,000 บาท ส่วนใหญ่นำไปทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักสมนุไพร ส่วนรายที่กู้สูงสุด 100,000 บาท มีจำนวน 3-4 ราย นำเงินลงทุนปลูกไผ่เลี้ยงหวาน เลี้ยงวัว เลี้ยงสุกร ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยขณะนี้เงินโครงการฯ จำนวน 5 ล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ นั้นใกล้จะหมดแล้ว โดยสมาชิกที่กู้ทุกรายจะต้องส่งเงินคืนทั้งหมดตามยอดจำนวนที่กู้ไปภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 จากนั้นถ้าสมาชิกรายใดสนใจกู้ต่อก็สามารถมาทำสัญญากู้ฉบับใหม่ได้ในวงรอบของปีถัดไป

ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 4,700 ราย ส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน สำหรับรายได้ของสหกรณ์ฯ ส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจบริการ โดยธุรกิจสินเชื่อนั้นสหกรณ์ปล่อยกู้แก่สมาชิกในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากอัตราร้อยละ 3 ซึ่งสัดส่วนเงินกู้กับเงินฝากใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจปั๊มน้ำมันอีก 2 แห่ง ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย อาทิ อุปกรณ์การตลาดและเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย ยา เครื่องจักกลการทางการเกษตร เป็นต้น ให้บริการเช่าห้องประชุม ซึ่งสามารถจุคนได้ 700 คน ซึ่งเป็นรายได้หลักของสหกรณ์ในปัจจุบันและล่าสุดมีการเตรียมจัดทำร้านกาแฟของสหกรณ์อีก 1 แห่งด้วย อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2567 ) สหกรณ์ฯ มีกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท (ปิดงบ 31 มีนาคม2567) มีทุนดำเนินการทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท ส่วนหนี้เสียไม่มี

“สหกรณ์ห้วยยอดมีธุรกิจสินเชื่อทำรายได้หลัก รองลงมาธุรกิจบริการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย เราขายทุกอย่าง ร้านทองเราก็มี ตอนนี้มีทั้งหมด 3 สาขา และกำลังจะเพิ่มอีกสาขาอยู่ระหว่างการหาทำเล ต้องบอกว่าสหกรณ์เรามียอดขายของสูงที่สุดในจังหวัดตรัง ขายสินค้าได้เกือบ 100 ล้านต่อปี” นางสาวพิมศิกรณ์ เผย

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยยอด จำกัด ยังกล่าวขอบคุณสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรังที่ได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเฉลี่ยเดือน 1-2 ครั้ง ทำให้สามารถช่วยป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในเรื่องส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก มีการจัดโครงการฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ในอาชีพแขนงต่าง ๆ ที่สมาชิกสนใจ พร้อมพาไปดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

“ปกติเราจะไม่กู้เงินจากภายนอก แต่ปีนี้สหกรณ์ฯ เพิ่งทำเรื่องขอกู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) จำนวน 4 ล้านบาทเพื่อนำมาจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่และพัฒนาโปแกรม ระบบแอพพลิเคชั่นสหกรณ์ให้ทันสมัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอนุมัติจากคณะกรรมการ กพส.” นางสาวพิมศิกรณ์ กล่าว

ด้านนายสงบ เย็นใจ ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวถึงโครงการส่งเสริมอาชีพ (เสริม) ให้กับสมาชิกสหกรณ์ใน จ.ตรังว่า ขณะนี้มีหลายสหกรณ์ทั้งในและนอกภาคเกษตรได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีรายได้เพิ่ม โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 70 แห่ง ได้ขับเคลื่อนอยู่แล้ว อย่างเช่น สหกรณ์การเกษตรปะเหลียน จำกัด ขณะนี้มีโครงการนำร่องปลูกพริกไทย มีทั้งปลูกจำหน่ายเมล็ดและต้นพันธุ์ มีการแปรรูปแบบครบวงจร หรืออย่างสหกรณ์ฯห้วยยอด ก็มีการจัดหาเงินทุนให้กับเกษตรกรสมาชิกเพื่อนำไปประกอบอาชีพเสริมโดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งสหกรณ์การเกษตรฯ ในจ.ตรัง ส่วนใหญ่ค่อนข้างพร้อมในเรื่องเงินทุนสำหรับการส่งเสริมาอาชีพแก่สมาชิก จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้บริการเงินกู้จากภายนอกมากนัก

“สหกรณ์ฯ ตรังที่ไม่กู้กรมฯ ก็มีอยู่หลายแห่งที่ไม่กู้ เพราะเขามีเงินเพียงพอ อย่างสหกรณ์ห้วยยอดไม่กู้ วังวิเศษก็ไม่กู้ แต่ปีนี้ห้วยยอดขอกู้เงิน กพส.ไป 4 ล้าน เพื่อพัฒนาโปรแกรม ระบบแอพพลเคชั่นในสหกรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ สหกรณ์ย่านตาขาวทำไปแล้ว เมื่อปีก่อน ภาคเกษตรช้ากว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ตำรวจ เขาทำไปก่อนแล้ว เพราะเขามีความพร้อม ส่วนตลาดจำหน่ายผลผลิตพืชผลสีเขียวสหกรณ์ ตอนนี้ห้วยยอดยังไม่มี สมาชิกต่างคนต่างขายกันเอง สหกรณ์ฯเมืองมีแล้วจัดทุกวันพุธ ย่านตาขาวมีแล้วจัดทุกวันพฤหัส ปีนี้จะต้องโฟกัสตรงนี้มากขึ้น” ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวย้ำ