โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดอุทัยธานี เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2505 มีอายุการใช้งาน 60 กว่าปี เป็นโครงการย่อยของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ตอนบนจากจำนวน 16 โครงการ มีหัวงานที่เป็น ปตร.ปากคลองส่งน้ำจำนวน 1 แห่ง รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาทางฝั่งซ้าย โดยมีระยะทางตามแนวแม่น้ำไปทางเหนือน้ำประมาณ 30 กิโลมตร ปัจจุบันคลองส่งน้ำในโครงการมีประสิทธิภาพการใช้งานของระบบชลประทานลดลง และคลองส่งน้ำบางสายยังเป็นคลองดิน คลองระบายน้ำมีสภาพตื้นเขิน ขนาดคลองแคบลง ปัญหาการบุกรุกเขตคลองระบายน้ำ คันคลองระบายน้ำบางช่วงต่ำ ท่อรับน้ำจากปากคลองมีระดับสูงกว่าระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก เกิดปัญหาในช่วงฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝน เกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำเข้าคลองเอง เนื่องจากระดับน้ำต่ำ ทำให้น้ำไม่เข้า ทรบ.ปากคลอง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร รวมถึงอาคารชลประทานมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่ดี แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงได้ทั้งระบบ เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมโครงการฯ มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในปี พ.ศ.2566-2567 กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้เล็งเห็นถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแคในขั้นตอนสุดท้าย มีระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 และสิ้นสุดวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาด้านต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ รอบด้าน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำอีกด้วย
นายสุประวัติ ชยาทิกุล วิศวกรชลประทานชำนาญการพิเศษสำนักงานชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์มีพื้นที่ชลประทาน 281,805 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแคมีพื้นที่ชลประทาน 240,000 กว่าไร่ รวมทั้งสิ้น 540,000 กว่าไร่ ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีพื้นที่ติดต่อกัน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์จะรับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำนโนรมย์แล้วลำเลียงน้ำมาถึงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค สำหรับมูลค่าลงทุนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์-ช่องแคจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,333 ล้านบาท โดยมีแผนดำเนินงานแบ่งออกเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว
ส่วนสภาพปัญหาคลองส่งน้ำ 9 ขวา ความยาว 78 กิโลเมตร ในช่วงฤดูแล้งระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสักต่ำลง ทำให้น้ำไม่สามารถเข้าคลองได้ และคลองส่งน้ำสายหลักส่วนใหญ่เป็นคลองดิน ทำให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำเกิดอุปสรรคส่งน้ำไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงอาคารชลประทานชำรุดเสียหาย จากผลการศึกษาสภาพปัญหาต่าง ๆ บริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำเป็นแผนงาน ประกอบด้วย แผนงานซ่อมแซมปรับปรุงคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 543 ล้านบาท และก่อสร้างสถานีสูบน้ำถาวร โดยใช้ระบบแผงโซล่าเซลล์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่สนามแจงสภาพปัญหาของคลองส่งน้ำ 14 ขวาก็คล้าย ๆ กับคลองส่งน้ำ 9 ขวา เนื่องจากมีวัชพืชจำนวนมาก จึงทำให้เกิดอุปสรรคต่อการลำเลียงน้ำตั้งแต่ต้นคลองไปจนถึงปลายคลอง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยกรมชลฯ มีแผนงานปรับปรุง ทรบ.คลองส่งน้ำ 14 ขวาให้มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือฤดูใน ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค ก็จะทำให้พื้นที่ 240,000 ไร่ มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวได้เต็มระบบ หากมีการขุดลอกคลองต่าง ๆ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากได้ ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผนงานจนเสร็จสิ้นทั้งระบบแล้ว จะช่วยให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำเพิ่มขึ้น ภายหลังปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จากเดิมทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งประสิทธิภาพชลประทานจะอยู่ที่ 45% ในฤดูฝนจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% และในฤดูแล้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 75% ส่งผลให้การปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ด้านนายจักรพันธ์ กันภัย นักวิชาการเกษตร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี กรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวพร้อมที่จะสนับสนุนและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งขณะนี้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรทั่วประเทศ ถ้าหากมีน้ำเพียงพอ ทำให้การผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรีจะขยายพื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในเขตอำเภอบ้านหมี่ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 200,000 ตัน หวังว่ากรมชลฯ จะดำเนินการปรับปรุงคลองส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรอย่างเต็มระบบ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานต่อไปได้
นายอนิวรรต์ ไพรดำ ผู้จัดการแปลงใหญ่ปลูกข้าวตำบลสนามแจง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ทางกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 20 ราย ปัจจุบันมีพื้นที่ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ประมาณ 900 กว่าไร่ ส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี กรมการข้าว โดยใช้น้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งอยู่ในโครงการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค โดยเฉพาะเกษตรกรที่ใช้น้ำจากคลองส่งน้ำ 14 ขวา ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากนโยบายของกรมการข้าวต้องการพื้นที่ในการทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ต่ำกว่า 200,000 ไร่ แต่ปัจจุบันสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เพียง 70,000 กว่าไร่ ดังนั้น เมื่อเกษตรกรมีพื้นที่ มีน้ำใช้เพียงพอ จะช่วยให้ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เมื่อมีระบบชลประทานที่ดีแล้ว ก็จะนำไปสู่เศรษฐกิจในครัวเรือนดียิ่งขึ้น เกิดระบบเงินหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งในอนาคตมีแผนปรับปรุงการใช้น้ำ โดยอยากจะให้มีการปรับปรุงคลองส่งน้ำ 14 ขวา สามารถระบายน้ำเข้าพื้นที่แปลงใหญ่อย่างสมบูรณ์มากขึ้น และอยากให้กรมชลฯ เข้ามาดูแลระบบน้ำให้กับเกษตรกร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันให้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับปัญหาต่าง ๆ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเป็นหลัก
“ก็ต้องขอขอบคุณกรมชลฯ ที่มีนโยบายในการพัฒนาและปรับปรุงคลองส่งน้ำ 14 ขวา เพื่อใช้ในการเพาะปลูกข้าวหรือทำการเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความหวังของพี่น้องเกษตรกรอย่างมาก เพราะถ้าหากมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น เกษตรกรก็จะเพิ่มพื้นที่ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี มีมาตรฐานให้กับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศอย่างทั่วถึง” ผู้จัดการแปลงใหญ่ปลูกข้าวตำบลสนามแจง กล่าว
กำนันเพ็ชรัตน์ ทองมี ตำบลโพธิ์ชัย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองส่งน้ำ 9 ขวา กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาเกี่ยวกับวัชพืชในคลองมีปริมาณเพิ่มขึ้น และปัญหาการสูบน้ำเข้าแปลงนา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อยากจะเสนอให้มีการตั้งสถานีสูบน้ำถาวรเพิ่มขึ้น โดยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ หรือติดตั้งระบบไฟฟ้าก็ได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เนื่องจากทางกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท มีพื้นที่ปลูกข้าว 95% ของพื้นที่ทั้งหมดในอำเภอโพธิ์ชัย แต่ปัจจุบันพบว่าคลองส่งน้ำ 9 ขวาส่งน้ำไปไม่ถึงปลายคลอง อีกทั้งระบบส่งน้ำมีความเก่าแก่ เกิดการชำรุด อยากจะให้มีการซ่อมแซมให้ดีขึ้น และปรับปรุงคลองดินให้เป็นคลองดาดคอนกรีต ซึ่งจะทำให้การไหลของน้ำได้ดียิ่งขึ้น และวัชพืชก็มีปริมาณลดลง
“ดังนั้น จึงอยากจะให้กรมชลฯ เร่งดำเนินโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าน้ำดี ข้าวดี ผลผลิตก็ดี เราหวังว่าถ้ามีระบบน้ำที่ดี เกษตรกรก็สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง มีเงินหมุนเวียนในครอบครัว และจะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุด” กำนันเพ็ชรัตน์ กล่าว
นายประจวบ พวงสมบัติ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำเขาแก้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการสูบน้ำเขาแก้ว ตำบลหยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการสูบน้ำเขาแก้วมีอายุการใช้งานมากแล้ว มีสภาพชำรุด จึงอยากจะให้มีการปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการสูบน้ำมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับเกษตรกรในฤดูนาปรัง ที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมมาโดยตลอด ส่วนการบริหารจัดการน้ำ โดยปรับระดับการส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างเพียงพอตลอดฤดูกาล มีการจัดสรรน้ำรอบละ 5-7 วัน/สัปดาห์ เฉลี่ยค่าไฟฟ้าเดือนละ 70-80 บาท/ไร่ โดยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมเป็นฤดูนาปรัง เกษตรกรมีความต้องการใช้น้ำมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่ถ้าเป็นฤดูนาปีในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก็จะขาดแคลนน้ำเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้ากรมชลฯ สามารถแก้ไขระบบการสูบน้ำให้มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า อยากให้โครงการนี้เสร็จเร็ว ๆ ถ้าปริมาณต้นทุนน้ำเพียงพอ ก็บริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มที่ สามารถจัดสรรน้ำให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงทุกแปลงนาแน่นอน
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์มีแผนปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 33 สาย ความยาว 215 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 24 สาย ความยาว 221 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 1,333.52 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 860.74 ล้านบาท, ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ 369.99 ล้านบาท, ค่าลงทุนด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ 4.45 ล้านบาท และค่าลงทุนด้านอาคารสถานที่/ครุภัณฑ์/บุคลากร 98.34 ล้านบาท ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานในพื้นที่โครงการ 281,805 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 64,437 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 352 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่า 143.43 ล้านบาท/ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ จำนวน 330,314 ไร่ และสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 32,681 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.89
ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแคมีแผนงานปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 26 สาย ความยาว 194 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 19 สาย ความยาว 237 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 1,313.90 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 808.85 ล้านบาท, ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ 425.75 ล้านบาท, ค่าลงทุนด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ 3.97 ล้านบาท และค่าลงทุนด้านอาคารสถานที่/ครุภัณฑ์/บุคลากร 75.33 ล้านบาท ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานในพื้นที่โครงการ 245,320 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 52,612 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 276 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่า 111.53 ล้านบาท/ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ จำนวน 280,770 ไร่ และสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 28,438 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.13 นอกจากนี้ยังส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ และลพบุรี สิงห์บุรี และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีน้ำกิน น้ำใช้ เพื่อการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตรอย่างเพียงพอ พืชผลทางการเกษตรได้ผลผลิตดี มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย