วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โอกาสนี้ รับฟังรายงานการส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การดำเนินงานกิจการสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด และแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างอาคารโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จากนั้น องคมนตรีเยี่ยมชมผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ฯ และมอบของที่ระลึกให้แก่ประธานสหกรณ์การเกษตร
สำหรับการก่อตั้งโรงสีข้าวพระราชทาน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมายังนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้พระราชทานเครื่องสีข้าว พร้อมเครื่องยนต์ต้นกำลังยี่ห้อซีเอ็มซี ขนาด 3 สูบ 45 แรงม้า สีข้าวได้ 16 เกวียนต่อวัน ให้แก่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกันนี้ กลุ่มเกษตรกรทำไร่อ่าวน้อย สมาชิกนิคมสร้างตนเองและราษฎรทั่วไปได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบเพื่อจัดสร้างโรงเรือนและฉางข้าว ซึ่งเก็บข้าวเปลือกได้ 300 เกวียน นอกจากนี้ ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 3 ไร่ เพื่อเป็นที่ตั้งเครื่องสีข้าวพระราชทาน ต่อมา ในปี 2525 กลุ่มเกษตรกรทำไร่อ่าวน้อยได้ร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการโรงสีข้าวพระราชทาน แต่ประสบปัญหาในการดำเนินงานหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ข้าวเปลือกในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีปริมาณไม่เพียงพอ ต้องซื้อจากต่างจังหวัด ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตสูง ประกอบกับความสามารถในการบริหารจัดการของกลุ่มมีข้อจำกัด จึงจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการ ต่อมาในปี 2541 จึงได้มีการฟื้นฟูกิจกรรมของโรงสีข้าวขึ้นใหม่
ต่อมาในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโรงสีข้าวพระราชทานว่า “ขณะนี้ได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง” ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้กราบบังคมทูลว่า “ปัจจุบันนี้สมาชิกนิคมและราษฎรซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากมีความเจริญก้าวหน้าด้านสาธารณูปโภค การคมนาคมสะดวกสบาย เกษตรกรจึงหันมาซื้อข้าวบริโภค กอปรกับสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับการทำนา” จึงมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า “หากเป็นเช่นนั้น น่าจะให้เกษตรกรผู้ที่ซื้อข้าวบริโภค รวบรวมเงินทุนเพื่อจัดซื้อข้าวเปลือกมาร่วมกันดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะถูกกว่าและสามารถเก็บไว้ได้นาน โดยการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีข้าวสารไว้สำหรับบริโภค และเพื่อจะได้ดำเนินกิจกรรมโรงสีข้าวอย่างต่อเนื่องต่อไป” จากนั้น ในปี 2558 ราษฎรได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมให้แก่โรงสีข้าวพระราชทานอีก จำนวน 3 ไร่ ปัจจุบันมีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 6 ไร่
ปัจจุบันสหกรณ์โรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 473 คน คณะกรรมการดำเนินการ จำนวน 11 คน เจ้าหน้าที่ 5 คน ผู้ตรวจสอบกิจการ 2 คน สหกรณ์ฯ ดำเนินธุรกิจและมีผลการดำเนินงานขาดทุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนเรือนหุ้น เนื่องจากมีภาระหนี้สิน ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (ปุ๋ย ยาเคมี ข้าวสาร สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ) ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจแปรรูปผลผลิตการเกษตรการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจแปรรูปข้าวเปลือก ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการแล้ว เนื่องจากต้องเดินทางไปซื้อข้าวเปลือกจากต่างจังหวัด ซึ่งมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้มติของสมาชิกไม่เห็นด้วยกับการซื้อข้าวเปลือกมาสี แต่ได้ดำเนินการจัดซื้อข้าวสารมาบรรจุถุงจำหน่ายสมาชิกและบุคคลทั่วไปในราคาถูก
จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองบึงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ และผลการดำเนินงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำคลองบึง บ้านย่านซื่อ โอกาสนี้องคมนตรีให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการฯ จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เยี่ยมสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองบึงฯ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับโครงการจัดหาน้ำให้กับสมาชิกนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองบึง สำหรับสมาชิกนิคมสร้างตนเองฯ ที่อยู่ในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วม เมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองบึงเสร็จแล้วนั้น ให้พิจารณาจัดสรรที่ทำกินใหม่ บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำคลองบึงขึ้นไป และพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำโจนและอ่างเก็บน้ำวังเป้า เพื่อจัดหาน้ำให้แก่สมาชิกนิคมสร้างตนเองฯ ที่อพยพเข้าไปอยู่บริเวณที่จัดสรร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณพื้นที่จัดสรรให้แก่สมาชิกนิคมสร้างตนเอง เพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณใกล้เคียง
ปัจจุบัน มีพื้นที่ชลประทาน 16,960 ไร่ ในเขตตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตำบลอ่าวน้อยมีเนื้อที่ทั้งหมด 206 ตร.กม. หรือประมาณ 315,000 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขา บางส่วนเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การเกษตรกรรม สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตตำบลอ่าวน้อย สามารถจำแนกจัดกลุ่มประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่อื่น ๆ
ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังขอพรฟาร์ม ของนายจิตร ขอพร เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวน้อย และเป็นเกษตรกรเลี้ยงวัวนม จำนวน 70 ตัว เลี้ยงแพะ 80 ตัว ทำไร่สับปะรด 25 ไร่ ปาล์ม 15 ไร่ มีรายได้ต่อเดือน 20,000 บาท เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด ตั้งแต่ปี 2543 เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด นายจิตรฯ ได้ใช้ที่ดินจำนวน 5 ไร่ เพื่อทำนาเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำนาร่วมกับสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด เพื่อ ให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ขั้นตอนและขบวนการในการทำนาข้าว แล้วนำข้าวเปลือกที่ได้มาสีที่โรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อยเป็นการสีข้าวเพื่อการเรียนรู้ ส่วนข้าวสารที่ได้มอบให้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมนำไปบริโภคภายในครัวเรือนต่อไป