รถสาธารณะ-รถรับจ้างเชียงใหม่ 8 องค์กร ทำ MOU เสนอรัฐบาลแก้เรียกรถผ่านแอฟพลิเคชั่น 9 ข้อ น้อมรับเสียงสะท้อน “ทำตัวเอง” แก้ข้อบกพร่อง พัฒนาบริการดีกว่าเดิมถ้าไม่แก้ เล็งเปลี่ยนรถแดง เป็นรถส้มแทน

วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่สหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด (รถรับจ้างสี่ล้อแดง) ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายณัฐวุฒิ โชคทวีพูน ประธานกรรมการสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด เป็นประธานประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาการเรียกรถผ่านแอฟพลิเคชั่น พร้อมจัดทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU รถสาธารณะผู้ประกอบการ และรถรับจ้าง จ.เชียงใหม่ ภายใต้กรอบการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพื่อนำเสนอสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก สหพันธ์สหกรณ์เดินรถแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และสำนักงานขนส่ง จ.เชียงใหม่ รวม 7 หน่วยงาน

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าว มีสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด (สี่ล้อแดง) สหกรณ์นครเชียงใหม่เดินรถจำกัด (สี่ล้อเหลือง) สหกรณ์เดินรถสันกำแพงจำกัด (สี่ล้อขาว) บริษัทลำพูนเดินรถจำกัด (สี่ล้อฟ้า) บริษัทเชียงใหม่ร่มหลวงเดินรถจำกัด (สี่ล้อเขียว) สหกรณ์สามล้อเครื่องนครเชียงใหม่จำกัด  รถเมล์เชียงใหม่ RTC และรถตู้รับจ้างสาธารณะ ร่วมลงนาม รวม 8 องค์กร ตามลำดับ โดยมีข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว รวม 9 ข้อ ประกอบด้วย 1. รถผ่านแอฟพลิเคชั่นต้องเป็นรถที่จดทะเบียน จ.เชียงใหม่ เท่านั้น 2.รถที่นำมาวิ่งต้องจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก (ป้ายเหลือง) 3. ใบอนุญาตขับขี่ต้องเป็นรถสาธารณะ 4. ประกัน พ.ร.บ.ภาคสมัครใจ ไม่น้อยกว่าประเภทที่ 3 5. กำหนดอายุรถที่นำมาจดทะเบียน ไม่เกิน 2 ปีไมล์ไม่เกิน 50,000 กิโลเมตร 6. กำหนดCC เครื่องยนต์ให้ชัดเจน 7. ติดสติ๊กเกอร์บริษัทแอฟพลิเคชั่นให้ชัดเจน 8. กำหนดสีให้ชัดเจน 9. กำหนดจำนวนรถ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการให้บริการ

    นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถผ่านแอฟพลิเคชั่นบริการในเชียงใหม่ 3,000-4,000 คัน ส่วนสี่ล้อแดง มีบริการ 2,100 คัน แท็กซี่มิเตอร์อีก 100 คัน รวม 2,200 คัน รถสี่ล้อเหลือง 823 คัน สี่ล้อขาว 100 คัน สี่ล้อเขียว 70-80 คัน สี่ล้อฟ้า 50-60 คัน รถตู้รับจ้าง 1,000 คัน และตุ๊กตุ๊กอีก 100 คัน ซึ่งรถรับจ้างสาธารณะดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากรถผ่านแอฟพลิเคชั่นทั้งหมด เพราะต้นทุนให้บริการรถสาธารณะ และรถรับจ้างสูงกว่ารถดังกล่าว อาทิ ต่อภาษีปีละ 2 ครั้ง ตรวจสภาพรถ พ.ร.บ.และประกันภัย ที่สำคัญมีกฏระเบียบควบคุมเข้มงวด ทำให้การแข่งขันบริการไม่ได้รับความเป็นธรรมมากนัก

    ดังนั้นเรียกร้องรัฐบาล กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบรถผ่านแอฟพลิเคชั่น เพื่อเข้าสู่รถสาธารณะที่ถูกกฏหมายเต็มรูปแบบเหมือนรถสาธารณะทั่วไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัตื โดยเฉพาะการเสียภาษี เพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศ ที่สำคัญแข่งขันต้นทุนบริการที่เป็นธรรม เสมอภาค ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบด้วย

    นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า เชียงใหม่ ถิอเป็นจังหวัดนำร่อง หรือโมเดลเรียกร้องดังกล่าวเพื่อส่งสัญญาณไปยังรถสาธารณะ และรถรับจ้างทั่วประเทศ ภายใต้เครือข่ายชุมนุมสหกรณ์เดินรถแห่งประเทศไทย ที่มีรถตู้รับจ้างทั่วประเทศกว่า 40,000 คัน ดังนั้นข้อเรียกร้องดังกล่าว อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาภายใน 3 เดือน หรือภายในกรกฎาคมนี้ หากนิ่งเฉยไม่แก้ปัญหา อาจนำรถสาธารณะหรือรถรับจ้าง พร้อมครอบครัว รวมกว่า 30,000 คนวิ่งรถรอบตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อชุมนุมและเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งการทำ MOU ดังกล่าว ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งส่งผลให้การขับเคลื่อนการแก้ปัญหา บรรลุผลกว่า 70-80 % แล้ว

    “ประเด็นรถสี่ล้อแดง ถูกสังคมวิพาษวิจารณ์และสะท้อนว่าทำตัวเอง จนมีผู้ใช้บริการน้อยลงนั้น ขอน้อมรับ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาบริการให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้สหพันธ์ SME ได้พัฒนาต่อยอดแอฟพลืเคชั่นของรถรับจ้างสี่ล้อแดงแล้ว เพื่อแข่งขันด้านบริการและราคา กับรถผ่านแอฟพลิเคชั่นที่จดทะเบียนกับกระทรวงคมนาคมจำนวน 6 ราย ซึ่งสามารถบริการข้ามภูมิภาคหรือต่างจังหวัดได้ เพื่อเป็นทางเลือกผู้ใช้บริการในอนาคต” นายณัฐวุฒิ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ยังมีการเสนอให้ล่ารายชื่อ พร้อมจ้างทนายฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอความคุ้มครองรถสาธารณะและรถรับจ้างที่ปฏิบัติตามกฏหมายชั่วคราว และดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปะละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามมาตรา 157 เนื่องจากรถผ่านแอฟพลิเคชั่น ส่วนใหญ่ผิดกฏหมายกว่า 80 % ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขอาจเปลี่ยนรถแดง เป็นรถส้มแทน