ทต.บ้านแปะ รับมอบเตาเผาขยะติดเชื้อแห่งแรกในประเทศ ทดสอบประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เผยลดต้นทุนกำจัด 20-50%

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เทศบาลตำบล (ทต.) บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นายพันธ์ศักดิ์ แก้วสุดใจ นายก ทต.บ้านแปะ เป็นประธานรับมอบเตาเผาขยะติดเชื้อจากบริษัทไทยเบอร์เนอร์แอนด์เฟอร์เนส จำกัด พร้อมทดสอบประสิทธิภาพเตาเผาดังกล่าว ที่ใช้กำจัดขยะติดเชื้อจากวัสดุทางการแพทย์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) 5 แห่งของตำบลบ้านแปะ แพมเพริส์จากเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผ้าอนามัยของเยาวชน สุภาพสตรี เพื่อป้องกันแพร่ระบาดของขยะติดเชื้อ โรคระบาดในชุมชน และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชนซึ่งเตาเผาดังกล่าว ถือเป็นเครื่องต้นแบบหรือนำร่องที่ ทต.บ้านแปะ เป็นแห่งแรกของประเทศ ก่อนขยายผลไปสู่ ทต.บ้านหลวง ทต.แม่สอย ทต.สบเตี๊ยะ ตามลำดับ

นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า เทศบาลได้จัดเก็บและกำจัดขยะ 2 ประเภท คือ ขยะทั่วไปที่สามารถคัดแยก หรือรีไซเคิล กับขยะติดเชื้อ โดยส่งขยะทั่วไปที่กำจัด กลบฝังที่บ้านตาล อ.ฮอด ส่วนขยะติดเชื้อ ส่งไปกำจัดที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ และแยกขยะมีพิษ ไปกำจัดที่โรงขยะองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งค่ากำจัดขยะทั่วไปตันละ 1,200 บาท ส่วนค่ากำจัดขยะติดเชื้อ 80,000-90,000 บาท/เดือน

“เทศบาล มีพื้นที่กว่า 200 ตารางกิโลเมตรมีเนื้อที่กว่า 69,000 ไร่ ครอบคลุม 20 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 12,300 คน รวม 4,000 ครัวเรือน มี รพ.สต. 5 แห่ง โรงเรียน 9 แห่งมีผู้ป่วยติดเตียงกว่า 200 ราย ส่งผลมีขยะติดเชื้อเพิ่ม เฉลี่ยวันละ 5 กิโลกรัม หรือ 25 กิโลกรัม/สัปดาห์ ถ้าใช้เตาเผาขยะสามารถกำจัดขยะติดเชื้อได้ 100 % และลดค่ากำจัดได้ถึง 20-50 % เพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นแทน” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้เตาเผาดังกล่าว ยังช่วบลดปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เพราะเหลือเถ่าไม่เกิน 3 % ตามมาตรฐานกรมอนามัย ซึ่งผู้ผลิตรับรองคุณภาพและมาตรฐานสากล เพราะเป็นเตาเผาที่ออกแบบใช้ขยะดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงกำจัด สามารถกำจัด ตั้งแต่ 5-50 กิโลกรัมเสียค่าไฟฟ้ากำจัดขยะ 12 บาท/ชั่วโมง ซึ่งต้นทุนผลิตเตาเผาขยะ 700,000-800,000 บาท/เตา แต่จำหน่ายให้เทศบาลเพียง 500,000 บาทเท่านั้น โดยรับประกันคุณภาพ 2 ปีด้วย

จากนั้นตัวแทนบริษัทไทยเบอร์เนอร์แอนด์เฟอร์เนส จำกัด ได้มอบเงินแก่นายพันธ์ศักดิ์ เพื่อสนับสนุนโครงการกีฬาต้านยาเสพติดของเทศบาล อาทิ ชกมวย ฟุตบอลตระกร้อ และวอลเลย์บอล ก่อนมอบข้าวสาร อาหารแห้งให้แก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอนและผู้จัดการทีม ในโครงการดังกล่าวตามลำดับ