องคมนตรีเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567

วันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เลขาธิการ กปร.) และนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน คณะผู้บริหารกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เป็นต้น เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม เนื่องจากในช่วงเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยแล้วหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่น “ยางิ” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง มีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก


นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าหลายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยกรมชลประทานได้จำลองสถานการณ์น้ำในกรณีที่มีฝนตกตามที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ จึงได้เร่งพร่องน้ำในอ่างฯ เพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกลงมาอีกในระยะต่อไป ควบคู่กับการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายน้ำ รวมถึงได้เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากร ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 11 ก.ย.67) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 49,885 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือประมาณ 65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 26,452 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรองรับน้ำฝนได้อย่างเต็มศักยภาพ

ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ในช่วง 3 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและปริมาณน้ำจำนวนมากในลำน้ำแม่สาย ลำน้ำกก และลำน้ำแม่จัน ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่จัน กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานเชียงรายได้เร่งระบายน้ำแม่น้ำสายลงสู่คลองระบายน้ำต่าง ๆ เพื่อระบายลงสู่ลำน้ำมะ ลำน้ำรวก ออกสู่แม่น้ำโขงตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันกำจัดเศษกิ่งไม้และวัชพืชที่ลอยมาตามน้ำออกจากทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเดิม พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำไว้รองรับสถานการณ์หลังระดับน้ำเริ่มลดลงด้วย

ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่และพื้นที่เศรษฐกิจระดับน้ำในแม่น้ำปิงยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าตลิ่ง ขณะที่ อ.แม่อาย และอ.ฝาง สถานการณ์น้ำฝางและลำน้ำสาขา ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำกก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ กรมชลประทานได้บูรณาการร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ให้การช่วยเหลือโดยได้แจกถุงยังชีพ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเตรียมเครื่องจักรพร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชม. นอกจากนี้ กรมชลประทานได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง พร้อมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด และที่ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งที่แม่น้ำปาย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในเขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จำนวน 600 ไร่ โดยปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินต่อไป

ขณะที่สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ได้ปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่ไหลลงมาสมทบ ซึ่งแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำด้วย ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่นอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนแม่น้ำน้อย คลองบางหลวง และคลองบางบาล

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำด้วยการควบคุมบานระบายของเขื่อนในแม่น้ำชีทุกแห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว โดยจะต้องควบคุมไม่ให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ตลิ่งทรุดและให้มีระดับน้ำที่แพสูบน้ำต่าง ๆ ของท้องถิ่นสามารถลอยน้ำอยู่ได้ ส่วนด้านท้ายน้ำจะพร่องน้ำที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา พร้อมแขวนบานที่เขื่อนปากมูล เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด ขณะที่เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองวารินชำราบ และอำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี ได้เฝ้าระวังในจุดเปราะบางที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมเสริมกำแพงปิดช่องว่าง สามารถเพิ่มความจุลำน้ำได้จากเดิม 2,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 3,200 ลบ.ม./วินาที