กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับกรมทางน้ำ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ผนึกกำลังแก้ปัญหาแม่น้ำโขง-เหือง สู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้ง 2 ฝั่งอย่างยั่งยืน

วันที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ราชอาณาจักรไทย ร่วมกับกรมทางน้ำ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จัดประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว เพื่อติดตามการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (Joint Committee for Management on Mekong River and Heung River : JCMH) ครั้งที่ 4 โดย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ประธานคณะกรรมการร่วมฯ JCMH ฝ่ายไทย มอบหมายให้ นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมการประชุม ร่วมกับนายจันทะลา พิมมะจัก หัวหน้ากรมทางน้ำ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประธานคณะกรรมการร่วมฯ JCMH  ฝ่ายลาว พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม ภายใต้คณะกรรมการร่วมไทย-ลาว ฯ นายสักรินทร์ อินทรสถิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง นายอุรินธ์ หุตะสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง นางมณฑ์หทัย รัตนนุพงค์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเทียน พิบูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผน กรมทรัพยากรน้ำ นายธนินทร มังคละคีรี ผู้อำนวยการกลุ่มแผนงานทรัพยากรน้ำแม่น้ำโขง สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นางสาวสมกมล ทองใส ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินของรัฐ กรมที่ดิน นายธีรภัทร จุนทการ ผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายมรุพงศ์ ตันสัจจา หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาพื้นที่ตลิ่งและชายฝั่ง สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมนริศรานุสรณ์ ชั้น 11 อาคาร 11 ชั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 และประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)


นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมฯ JCMH ฝ่ายไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมไทย-ลาว หรือ JCMH คือ คณะทำงานกลไกความร่วมมือของราชอาณาจักรไทย และสปป.ลาว เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อตลิ่งและชายฝั่ง รวมทั้งระบบนิเวศวิทยา อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนมีกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อแม่น้ำที่เป็นแนวกั้นพรมแดนระหว่างสองประเทศ เช่น การดูดทราย การดำเนินการสิ่งก่อสร้างตามลำน้ำ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณแม่น้ำและตลิ่งของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์ และไม่นำไปสู่ปัญหาที่อาจจะกระทบต่ออีกฝ่าย จึงได้มีกลไกร่วมกันระหว่างสองฝ่าย


สำหรับการหารือและแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ลาวครั้งนี้เป็นการรับทราบผลการดำเนินการที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม ภายใต้คณะกรรมการร่วมไทย-ลาว เพื่อติดตามการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (Joint Technical Sub-Committee for Management on Mekong River and Heung River : JTMH) ที่ได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี ในการแก้ไขปัญหา และแก้ไขข้อกำหนดให้ครอบคลุม และทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย ข้อกำหนดมาตรฐานด้านเทคนิคการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง และข้อกำหนดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (แก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1) ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศที่อยู่ตามริมแม่น้ำโขง และแม่น้ำเหือง ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกัน และให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้นำผลการบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว เพื่อติดตามการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง ครั้งที่ 4 ไปเผยแพร่ให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชนของสองประเทศที่อยู่ตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองได้รับทราบและดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ JCMH ได้มีการจัดทำบันทึกร่วมกันแบ่งเป็นสองฉบับ ได้แก่ ฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาลาว ซึ่งทั้งสองภาษามีคุณค่าเท่าเทียมกัน นับเป็นความร่วมมือที่ดีของทั้ง 2 ประเทศที่จะได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และชัดเจนตรงกัน ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนของทั้ง 2 ประเทศที่อยู่ตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองต่อไป