การเริ่มต้นเลี้ยงโคนั้น ทุกคนต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นเหมือนกัน หากเราเตรียมพร้อม มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคมากเท่าไหร่จะช่วยให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่กำลังสนใจ หรือเป็นมือใหม่ด้านการเลี้ยงโคที่ต้องการเพิ่มรายได้สร้างอาชีพให้กับตนเอง และครอบครัวที่สามารถเลี้ยงโคคืนทุนไวใน 4 ปีที่เกิดขึ้นจริงแล้วที่โครงการโคเงินล้าน
สำหรับโครงการโคเงินล้าน จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาเลี้ยงโคกันมากขึ้น โดยทางโครงการฯ จะปล่อยกู้โค 2 ตัว มูลค่า 50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ยในระยะเวลา 4 ปี ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนกับโครงการฯ เพื่อนำโคเพศเมียจำนวน 2 ตัวไปต่อยอดสร้างอาชีพ พร้อมทั้งให้คำแนะนำจากทางเจ้าหน้าที่ และช่องทางต่าง ๆ กับผู้ที่กำลังเริ่มหันมาเลี้ยงโค ซึ่งการเลี้ยงโคนั้นสามารถต่อยอดได้มากมาย
เริ่มต้นเราต้องมีโคตัวเมีย 2 ตัว อายุระหว่าง 13-15 เดือน โดยที่จะต้องทำการผสมเทียมโคตัวเมียทั้ง 2 ตัวที่มีอายุระหว่าง 18-19 เดือน ในเวลาที่เหมาะสม ถูกเวลาถูกจังหวะ การผสมเทียมสามารถให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เข้ามาดำเนินการให้ได้เช่นกัน แต่แนะนำว่าหากในพื้นที่มีโคเยอะเกินไปเจ้าหน้าที่อาจไม่เพียงพอ แนะนำว่าให้เกษตรกรในพื้นที่ส่งตัวแทนไปเรียนรู้และอบรมการผสมเทียมที่กรมปศุสัตว์ หรือสถาบันการศึกษาที่เปิดอบรม เพื่อนำเอาความรู้ที่ได้มาช่วยผสมเทียมโคของพี่น้องเกษตรกรในชุมชน
หลังจากที่เริ่มผสมเทียมแล้วโคจะใช้เวลาตั้งท้องเป็นเวลา 10 เดือน ซึ่งหลังจากลูกโคตัวแรกคลอดควรให้แม่โคได้พักทิ้งระยะการท้องเป็นเวลา 4 – 6 เดือนเป็นอย่างน้อยเพื่อให้ร่างกายแม่โคกลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งลูกโคตัวแรกที่คลอดออกมาจะสามารถขายได้ต่อเมื่อมีอายุอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งสามารถขายได้ราคา 20,000 – 25,000 บาท (ราคากลางของตลาดโคในไทย) สำหรับโคตัวเมียที่พึ่งคลอดลูกต้องหาหญ้าสดคุณภาพดีให้กินเต็มที่ อาจจะเสริมด้วยมันสำปะหลังสับตากแห้ง หรือรำอ่อน ที่หาได้ตามท้องถิ่น เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรงเหมือนเดิม
โดยในช่วงลูกโคอายุ 2 – 3 เดือนจะเริ่มหัดกินหญ้าและอาหาร และหลังจากอายุ 3 เดือนค่อย ๆ เพิ่มอาหารให้ลูกโคทีละนิด สามารถหย่านมลูกโคที่อายุ 5-6 เดือน โดยหลังหย่านมต้องให้ลูกโคกินหญ้าให้พอเพียง จะได้เจริญเติบโตเร็ว ดังนั้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและหาข้อมูลเพิ่มให้มากที่สุดเพื่อเตรียมพร้อมช่วงเวลาดังกล่าว
โดยสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการผสมเทียม คือ การเลือกน้ำเชื้อจากโคที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยของเรานั้นนิยมเลี้ยงโคสายพันธุ์เหล่านี้ ได้แก่ ลูกผสมชาโลเล่ กับบราห์มัน, ลูกผสมแองกัส กับบราห์มัน, ลูกผสมบีพมาสเตอร์ กับบราห์มัน, ลูกผสมสายพันธุ์บราห์มันกับสายพันธุ์พื้นเมือง, โคสายพันธุ์แองกัส และวากิวที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศไทย ยิ่งเราเลือกน้ำเชื้อโคได้ถูกสายพันธุ์ยิ่งมีโอกาสสร้างได้ที่สูงให้เราได้เช่นกัน
แน่นอนว่าการเลี้ยงโคให้สำเร็จและเป็นไปตามแผนระยะเวลา 4 ปีคืนทุนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ปัจจัยจากการเลือกโค การขายลูกโค หรือการผสมเทียมเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเลี้ยงโคเช่นกัน
ปัจจัยที่ 1 หญ้าที่เหมาะกับการปลูกเพื่อเลี้ยงโค
หญ้า คือ อาหารหลักสำหรับโค แน่นอนว่าหญ้าแต่ละชนิดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคุณสมบัติไม่เหมือนกัน ซึ่งคุณค่าทางอาหารของหญ้าที่ให้โคกินมีผลต่อการเติบโตของโค รวมถึงพื้นที่การปลูกนั้นเหมาะสมไหมขึ้นอยู่กับพื้นที่ภาคไหนของประเทศไทย หญ้าแพงโกล่า หญ้าขน หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 โดยในช่วงแรกเกษตรกรที่เลี้ยงโค 2 ตัว ปลูกหญ้าประมาณครึ่งไร่ก็เพียงพอต่อการเลี้ยงโค
ปัจจัยที่ 2 พื้นที่เลี้ยงโค
ช่วงเริ่มต้นอาจไม่ต้องใช้พื้นที่ใหญ่มากเพื่อการเลี้ยง และคอกโคอาจเริ่มต้นง่าย ๆ เน้นให้โคมีที่หลบแดดหลบฝน และเหลือพื้นที่รอบคอกโคไว้เล็กน้อยเพื่อให้โคสามารถเดินเล่นได้ ที่สำคัญอย่าลืมดูทิศทางของลมที่พัดในพื้นที่ ช่วยให้คอกโคไม่ร้อนจนเกินไป เพื่อประหยัดต้นทุนในช่วงแรก และค่อยเพิ่มเติมต่อยอดจากรายได้ที่ได้มาจากโค สำหรับหลังคาคอกโคสามารถใช้วัสดุได้หลากหลาย เช่น สังกะสี กระเบื้อง หญ้าคาหรือจาก แต่สิ่งที่ต้องระวังคือวัสดุจากสังกะสีที่ต้องมีระยะห่างจากพื้นอย่างน้อย 2.50 เมตรป้องกันความร้อนที่จะสะสมอยู่ในคอกโค
ปัจจัยที่ 3 โปรแกรมการตรวจสุขภาพโคประจำปี
โคเป็นสัตว์ที่ทนทานต่อโรคสูง แต่เราก็ไม่สามารถประมาทเรื่องโรคได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคที่มักเกิดกับโค และสามารถติดต่อได้จากการกินน้ำ หรืออาหารที่มีเชื้อโรคปนอยู่ เจ้าของโคไปในสถานที่ที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ แล้วนำกลับมาติดที่บ้าน เมื่อโคติดเชื้อจะมีอาการเยื่อบุช่องปาก-ลิ้นอักเสบ ไม่อยากอาหาร หรืออาจกินน้อยลง กีบเท้าอักเสบยืนหรือเดินลำบาก โรคปากและเท้าเปื่อยสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และถ้าให้ดีขึ้นฉีดปีละ 3 ครั้งทุกๆ 4 เดือน ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เพื่อให้เข้ามาฉีดวัคซีนโคของเรา เพราะหากโคไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบโคที่ติดโรคนี้จะมีอาการรุนแรง และในโคอายุน้อยถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เพื่อให้เข้ามาฉีดวัคซีน โรคนี้ติดต่อได้จากแมลงดูดเลือดจากโคที่เป็นแล้วมากัดดูดเลือดโคของเรา เป็นแล้วผิวหนังจะพุพอง เป็นมากอาจถึงเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ต้องมีการถ่ายพยาธิโคปีละ 3 ครั้ง เพื่อช่วยให้ร่างกายของโคมีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการตรวจโรคอื่น ๆ เกษตรกรควรป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในโค ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เกิดโรคแล้วรักษาทีหลังซึ่งไม่ทันท่วงที เกิดความเสียหายมาก ขอแนะนำให้ ความสะอาดคอกโคบ่อย ๆ ป้องกันเชื้อโรคสะสมช่วยให้โคไม่เป็นโรคได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้นการเลี้ยงโคสามารถช่วยสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือนได้หลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงโคเพื่อขาย หญ้าที่ปลูกไว้ให้โคกิน หรือแม้กระทั่งการเก็บมูลโคขาย และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกคนสามารถเลี้ยงโคเป็นอาชีพหลัก หรือแม้แต่เป็นอาชีพเสริมได้เช่นกัน ช่วยให้คนที่เลี้ยงมีรายได้และความมั่นคงในชีวิตที่ดี หากสามารถทำตามระยะเวลานี้ได้เพียง 4 ปี สามารถคืนทุน และหลังจากนี้คือกำไรสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงโค และสู่การต่อยอดการเลี้ยงโคที่ดี และมากกว่าเดิมได้