“เคลื่อนความรู้ เทคโนโลยี  ประสบการณ์ จากภาคเอกชนไปที่ภาคการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” เป้าหมายร่วมของเครือข่าย ALL FOR EDUCATION หอการค้าไทย

คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเป้าหมายร่วมของการเปิดตัวเครือข่าย “All for Education หอการค้า 77 จังหวัด” ในงาน All for Education ร่วมคิด ร่วมสร้าง การศึกษาเพื่อเด็กทุกคน เพื่อยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพิ่มขีดความสามารถประเทศไทยผ่าน “กองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Sandbox Fund)”  โดยความร่วมมือของหอการค้าแห่งประเทศไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ณ โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9

ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน การศึกษาทั่วโลก มีการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนับตั้งแต่โควิด-19 ที่ผ่านมา มีการนำเอา Digital Transformation และ AI มาใช้เพื่อยกระดับในทุกองค์กร และสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและในทุกระดับ  ซึ่งตรงกับ 1 ใน 4 ความท้าทายที่หอการค้าไทยส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนในอนาคต

นอกเหนือจาก Geopolitical Chance, Population Chance, Climate Chance แล้ว “Technology Chance” จะมีบทบาทสำคัญและเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาโดยตรง ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยต้องเร่งปรับระบบการศึกษาให้โจทย์ต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนรองรับนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดึงดูด FDI จากต่างชาติในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็พบว่ามีการขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่ากว่า 8.4 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี

ซึ่งในอนาคตหากมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็จำที่ไทยต้องเร่งผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพมารองรับการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และ YEC ทั่วประเทศ ได้มีความร่วมมือสนับสนุน “การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มี  เป้าประสงค์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพบุคลากรทางการศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ

โดยสถาบันการศึกษา ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) จะได้มีโอกาสจัดการเรียนการสอนที่สอดรับกับความต้องการและบริบทในพื้นที่ ผ่านนวัตกรรมทางการศึกษาที่หลากหลาย ผลักดันเด็กไทยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโลกการเรียนรู้ให้กว้างและมากยิ่งขึ้น

ขณะที่บทบาทหอการค้าฯ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC และภาคเอกชนในพื้นที่ พร้อมให้การสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ ในลักษณะพี่เลี้ยง ให้กับอาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา เพื่อให้การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของพื้นที่นวัตกรรม เกิดการเรียนรู้ทั้งทฤษฎี และ การลงมือทำจริง ควบคู่ไปด้วยกัน  และเชื่อมั่นว่าหาก ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในลักษณะ Connect the Dots จะช่วยขยายผลจาก 20 จังหวัด เป็นทั่วประเทศได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิด Young Talent ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดต่อไป