เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ประจำปีการศึกษา 2566-2568 โดย นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่มีการชชพูดถึงกันมากในขณะนี้ และต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้วก็คือ การเรียนรู้แบบ Active Learning โดยแนวคิดเรื่องของ Active Learning คือ ต้องการให้เด็กได้มีโอกาสได้คิด มีกระบวนการคิด มีกระบวนการทำงานและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ ซึ่งก็มีหลายรูปแบบหลายเทคนิค ส่วน GPAS 5 Steps ก็เป็นรูปแบบการสอนวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้เด็กมีกระบวนการคิดเชิงระบบ สามารถคิดไปสู่ระดับสูงได้ ไม่ใช่แค่รู้และเข้าใจแต่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ และครั้งนี้ก็ถือว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 (สพป.อย.1) มีโอกาสดีที่ได้ร่วมมือกับ พว. ในการพัฒนาครูให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนในรูปแบบ Active Learning และคิดว่าเมื่อครูได้รับการพัฒนาก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้เรียนได้อย่างที่คาดหวัง
“สพฐ.ส่งเสริมการเรียนการสอนในหลายรูปแบบ โดยเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ได้คิดวางแผน ซึ่งกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ก็เป็นวิธีการที่จะทำให้เด็กเป็นอย่างที่เราต้องการให้เป็นโดยเท่าที่เห็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ร่วมกับ พว.จัดอบรมพัฒนาครูในโรงเรียน ก็เห็นผลที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนว่า เด็ก สามารถสร้างสรรค์งานจากสิ่งที่คิดด้วยตัวเองโดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง จากที่ได้ซักถามเด็กสามารถตอบได้ว่า ทำไมถึงทำสิ่งนี้คิดมาจากฐานอะไร และพยายามหาคำตอบ ซึ่งการหาคำตอบนั้นก็คือกระบวนการในการหาข้อมูล หาเหตุผลมาสนับสนุนการคิด และยังได้เห็นการทำงานร่วมกันอย่างมีวิธีการของผู้เรียน โดยสิ่งที่ติดตัวเด็กไปตลอดนั่นก็คือกระบวนการ ไม่ว่าคำตอบที่ได้มานั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม แต่กระบวนการจะทำให้เด็กสามารถไปค้นหาหรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ได้ตลอดชีวิต”น.ส.รัตนากล่าว
ดร.กัลยา มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 กล่าวว่า ความร่วมมือวันนี้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เชื่อมโยงมาถึง สพฐ. และการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน ตามแนวทางการทำงานจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะการพัฒนาการศึกษาจะทำหน่วยงานเดียวไม่ได้ต้องมีหน่วยงานอื่นมามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลหรือเอกชน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สพป.อย.1 กับ พว.เราเคยร่วมกันอบรมพัฒนาครูของ สพป.อย.1 มาแล้ว โดยเป็นการพัฒนาครูใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งผลที่ได้คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กดีขึ้นมากในการประเมินระดับชาติไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ หรือ National Test (NT) และ การทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการอ่าน หรือ RT
“GPAS 5 Steps เป็นเรื่องของการพัฒนานักเรียนในภาพรวม ขณะที่ Active Learning เป็นการเรียนรู้ที่ได้มีการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งการพัฒนาประเทศในขณะนี้หากต้องการให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเด็กรุ่นใหม่จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเทคโนโลยีและวิชาการ กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก” ดร.กัลยากล่าว
ด้าน นางอภิญญา อ่อนจริง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทำใหม่ สพป.อย.1 กล่าวว่า โดยส่วนตัวติดตามและทำเรื่องของ Active Learning มานานหลายปีแล้วโดยครูทุกคนในโรงเรียนก็ได้ใช้การเรียนการสอนแบบ Active Learning ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งผลที่ได้คือการประเมิน O-NET และ NT ปีที่ผ่านมาของโรงเรียนเรา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลางและอยู่ชายขอบของตัวเมือง แต่มีเด็กที่สามารถทำคะแนนภาษาอังกฤษได้เต็ม 100 คะแนน และ นักเรียนทุกคนทำคะแนนภาษาไทยได้สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ และปีนี้ก็กำลังลุ้นกันอีกว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่าผลจะออกมาดีแน่นอน และจากการติดตามประเมินครูมาตลอดทั้งปีพบว่า ครูมีความสุขกับการสอน และนักเรียนก็มีความสุขกับการเรียนด้วยรูปแบบ Active Learning ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความสำเร็จเกินความคาดหมาย และเป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครองอย่างมาก
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจสราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มีการทำ MOU ครั้งนี้ เพราะโรงเรียนมีการพัฒนาจนประสบความสำเร็จและจะต่อยอดให้สูงขึ้นให้เป็นไปตามนโยบายหรือความคาดหวังของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะทำให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงนวัตกรรมให้ได้ เพราะการเข้าถึงนวัตกรรมเป็นวิธีการที่สำคัญมากที่เด็กสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ นำไปต่อยอดผลผลิตในครอบครัวให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้ โดย กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Stepsจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้เข้าใจ รู้ความหมาย เห็นคุณค่า และส่งเสริมคุณค่า รวมถึงรักษาคุณค่าเหล่านั้นไว้ตลอดไป
“สาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ ล้วนเกี่ยวข้องกับบริบทของวิถีชีวิต และความเป็นไทย เพราะฉะนั้นการเรียนด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของความเป็นชาติ และเกิดความรู้ที่แท้จริง เพราะ GPAS 5 Steps เป็นความรู้ที่หลุดจากเนื้อหาทั้งระบบและเป็นการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากกลุ่มสาระ เป็นกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงวิจัย และในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็กำหนดให้เด็กทำงานร่วมกับชุมชน ปฏิบัติการเชิงวิจัยผ่าน ดังนั้นวิธีการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จึงเป็นกระบวนการวิจัยที่ชัดเจน ซึ่งเด็กไทยสามารถเรียนรู้ได้แน่นอน”ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ในชั้นเรียน ถ้าเราสอนตามหลักการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ ซึ่งก็คือแผนการพัฒนาหรือแผนการจัดประสบการณ์ และทักษะ เพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยเป้าหมายคือมาตรฐานการเรียนรู้ ที่หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกของเด็กแต่ละคนในด้านของการคิดเชิงระบบตั้งแต่การคิดแสดงออกทั้งเหตุและผลเชิงคุณธรรม ค่านิยม การปฎิบัติการพัฒนาการสร้างผลผลิต ซึ่ง GPAS 5 Steps จะเป็นเครื่องมือกลไกสำคัญที่จะสามารถหลอมรวมความรู้เชิงเหตุและผลเชิงคุณธรรมและทักษะมาเป็นเนื้อเดียวกันมาเป็นความรู้ก้อนเดียวกันไม่ได้แยกส่วน กระบวนการนี้จึงเป็นแก่นของความรู้ที่แท้จริงตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการและทุกภาคส่วนรวมถึงผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น