กรมชลฯ เดินหน้าสร้างความมั่นคงแหล่งน้ำต้นทุน ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)


กรมชลประทานลงพื้นที่ติดตามขับเคลื่อน “โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร อุปโภค-บริโภค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มรายได้สร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับเกษตรกร



เมื่อวันที่ 26-27 มีนาคม 2568 นางดรรชณี เฉยเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)” พร้อมสรุปรายละเอียดและภาพรวมการศึกษาโครงการ และรับฟังข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมลำน้ำชี สำนักงานชลประทานที่ 6 อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ ซึ่งการพัฒนาโครงการมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยการพิจารณาการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนพร้อมระบบส่งน้ำในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภค-บริโภค

นางดรรชณี กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ประกอบด้วย 20 จังหวัด มีลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ประกอบกับแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีน้อย เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบสูงและมีลักษณะแบนราบ การนำน้ำมาใช้ส่วนใหญ่ต้องใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก


“พื้นที่ศึกษาโครงการครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา รวม 30 อำเภอ 179 ตำบล ขั้นตอนการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบคลองส่งน้ำที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่ โดยคลองส่งน้ำแยก เป็นคลองส่งน้ำสายหลัก คลองส่งน้ำสายซอย และคลองส่งน้ำสายแยกซอยและได้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบคลองที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ อีกทั้งเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าน้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว รวมทั้งสระน้ำและหนองน้ำธรรมชาติอีกด้วย” นางดรรชณี กล่าว

นายจิรศักดิ์ มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักชลประทานที่ 6 กล่าวว่า การศึกษารูปแบบของระบบชลประทานที่เหมาะสมครั้งนี้ดำเนินการโดยกรมชลประทาน จากหัวงานแนวผันน้ำช่วงที่เป็นคลองลำเลียงน้ำซึ่งเป็นคลองเปิด ผ่านบริเวณอำเภอสุวรรณคูหา อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู สามารถสูบน้ำจากคลองลำเลียงน้ำส่งให้พื้นที่ข้างคลองที่เป็นพื้นที่สูงและเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก โดยเป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ระบบส่งน้ำโครงการฯ โขง เลย ชี มูล ระยะที่ 1 จะเป็นพื้นที่ที่แนวคลองตัดผ่านและใกล้เคียง โดยเป็นการศึกษาทบทวนรูปแบบของระบบชลประทานที่เหมาะสม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.73 ล้านไร่


นายจิรศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อโครงการดำเนินการตามแผนจะสามารถกระจายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้มากที่สุด ค่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ปากแม่น้ำเลยอยู่ระหว่าง +197.00 ถึง +212.00 ม.รทก. อุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร สามารถผันน้ำโขงได้สูงสุดประมาณ 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็นปริมาณน้ำผันประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 1.73 ล้านไร่ พื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 0.864 ล้านไร่ เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 388 ล้านลูกบาศก์เมตร เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว 101 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านนายสวน พันเดช หัวหน้ากลุ่มผู้ใช้น้ำโซน 5 (1R-3L-RMC) สำนักงานชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายมาก อย่างนาข้าว พืชผักสวนครัวได้รับความเสียหาย ซึ่งชาวบ้านมีความต้องการใช้น้ำทุกหมู่บ้าน เพราะน้ำมีความสำคัญกับการเกษตรอย่างมาก ถ้าไม่มีน้ำ ก็ปลูกข้าวไม่ได้ ทำสวนไม่ได้ ดีใจที่มีโครงการฯ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) ซึ่งเป็นความหวังของชาวบ้านที่รอคอยมานานแล้ว อยากจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็วๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ถ้ามีน้ำเพิ่มขึ้น ก็สามารถบริหารจัดการการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถปลูกข้าวนาปีและนาปรัง รวมถึงปลูกพืชผักสวนครัวได้ตลอดทั้งปี ได้ผลผลิตดี มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น อยู่ดี มีสุข

ขณะที่นายทองลี แซงภูเขียว อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตัวแทนชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ บอกว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทั้งนาปีและนาปรัง รวมทั้งมีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อจำหน่าย เช่น ชะอม ฯลฯ การนำน้ำมาทำประปาหมู่บ้าน โดยอาศัยน้ำจากคลองชลประทานเป็นหลัก ที่ผ่านมามักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่นอกเขตชลประทานจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ไม่สามารถทำนาได้ จึงปลูกพืชทนแล้ง อย่างเช่น มันสำปะหลัง ฯลฯ ทั้งนี้ หากมีโครงการฯ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) ก็จะช่วยทำให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องออกไปรับจ้างทำงานนอกพื้นที่


“ทุกวันนี้น้ำคือชีวิต ถ้าขาดน้ำก็เหมือนขาดใจ เพราะน้ำสามารถนำไปใช้ประโยชนเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ถ้ามีน้ำดีเพียงพอ ก็จะส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเกษตรในพื้นที่ดีขึ้นด้วย ต้องขอบคุณกรมชลประทานที่มองเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และมองเห็นความสำคัญของน้ำที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกร จึงได้มีแนวคิดในการจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้น้ำอย่างเต็มที่ สามารถทำนาและปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ช่วยส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น” นายทองลี กล่าว