สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองเปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ต้นแบบ ปี 2567 ดันผลไม้ภาคตะวันออกให้ก้าวไกลและสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง เปิดโครงการฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตร ดันผลไม้อัตลักษณ์ 9 จว. ภาคตะวันออก ออกสู่ตลาด เผย รสชาติ คุณภาพ และมีเรื่องราวความเป็นมาที่ชัดเจน น่าสนใจ ผลไม้ประจำถิ่นพัฒนาพันธุ์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมเปิดตัวหลากหลายชนิด

วันที่ 10 เมษายน 2567 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลมาบไพ สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก และเกษตรกร จัดงานประชาสัมพันธ์โครงการเปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ ปี 2567 สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตร โดยมีนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน ณ สวนนวลทองจันท์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี 

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรให้มีความเข้มแข็งมั่นคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยต่อยอดจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ สามารถผลักดันและส่งเสริมให้ผลไม้อัตลักษณ์ที่หลากหลาย โดดเด่นในเรื่องรสชาติ คุณภาพ และมีเรื่องราว (Story) เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผลไม้อัตลักษณ์ได้อย่างยั่งยืน

“การจัดงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนทั่วไปได้รู้จักสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ประจำถิ่นของภาคตะวันออกมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพสินค้าเกษตรอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ของเกษตรกร และเป็นการช่วยผลักดันส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งและเติบโตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป สุดท้ายนี้ขอฝากให้เกษตรกรทุกคนช่วยกันรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สร้างมูลค่าของทุเรียนให้เติบโต ซึ่งเวทีนี้จะเป็นประโยชน์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง” นายรพีทัศน์ กล่าว

ด้านนางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีบทบาทในการพัฒนาผลไม้ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งระบบ โดยเฉพาะไม้ผลเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผลไม้พื้นถิ่นซึ่งเป็นผลไม้ในกลุ่มรองก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กัน มีตลาดเฉพาะ จึงให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ และเกษตรกรคัดเลือกพืชในพื้นที่มาเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ซึ่งมีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (story) ที่แตกต่างจากแหล่งอื่นๆ มีความโดดเด่น มีศักยภาพ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ปัจจุบันมีผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไม้ผลอัตลักษณ์พื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออกเพิ่มมากขึ้น สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่ปรับเปลี่ยนการผลิตจากรูปแบบเดิมสู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

“งานเปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ต้นแบบ โครงการเปิดฤดูกาลไม้ผลอัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตรที่จัดขึ้นในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ของภาคตะวันออก และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคต่อผลไม้อัตลักษณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานในการส่งเสริมด้านการตลาดของสินค้าผลไม้อัตลักษณ์ สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป สิ่งสำคัญคือเกษตรกรต้องบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่น ต้องมีความซื่อสัตย์และศรัทธาในสินค้าของตนเองให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าว

ทางด้านนายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก กล่าวย้ำเตือนให้พี่น้องเกษตรกรคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก ขอให้รักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าไว้ให้ดี เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า ฉะนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันยกระดับสินค้า โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศ อีกทั้งร่วมกันผลักดันเปอร์เซ็นต์แป้งให้สูงขี้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น เวียดนาม ได้แน่นอน

ขณะที่นายสุเทพ นพพันธ์ เจ้าของสวนทุเรียนนวลทองจันท์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาชีพปลูกทุเรียนเป็นอาชีพที่ดีที่สุด เป็นมหานครแห่งผลไม้ ต้องมีการพัฒนาให้ก้าวไกล ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเกษตรกรเอง ต้องรักษาคุณภาพอย่างจริงจัง ซึ่งในอนาคตข้างหน้าต้องเปิดตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยผลักดัน รวมถึงระบบโลจิสติกส์ต้องกระจายสินค้าให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันตนได้คิดค้นพัฒนาทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ ชื่อ “ทุเรียนนวลทองจันท์” เป็นผลไม้อัตลักษณ์ จังหวัดจันทบุรี

ทั้งนี้ ภายในงานฯ มีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1.การเสวนา หัวข้อ การส่งเสริมผลไม้อัตลักษณ์ของไทยให้ก้าวไกลและเพิ่มมูลค่า 2.กิจกรรมให้ความรู้ การสร้างมูลค่าเพิ่มกับผลไม้อัตลักษณ์ นิทรรศการผลไม้อัตลักษณ์ 9 จังหวัดภาคตะวันออก สาธิตการแปรรูปอาหารจากผลไม้อัตลักษณ์ภาคตะวันออก และ 3.พิธีมอบรางวัลการประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่น ระดับเขต ประจำปี 2567

พร้อมกันนี้ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการความรู้ผลไม้อัตลักษณ์ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก สาธิตการแปรรูปอาหารจากผลไม้อัตลักษณ์ภาคตะวันออกจากเชฟแหม่ม นางสาวชนิดาภา พรพินิต MasterChef Thailand Season 5 และเยี่ยมชมแปลงทุเรียนนวลทองจันท์ของนายสุเทพ นพพันธ์ เจ้าของสวนทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ “ทุเรียนนวลทองจันท์” ผลไม้อัตลักษณ์ จังหวัดจันทบุรี อีกด้วย

สำหรับผลไม้อัตลักษณ์ของภาคตะวันออกที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ได้แก่ ขนุนหนองเหียงชลบุรี จังหวัดชลบุรี มะยงชิดนครนายก จังหวัดนครนายก มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว จังหวัดสระแก้ว มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุเรียนชะนีเกาะช้าง จังหวัดตราด ทุเรียนหมอนทองระยอง จังหวัดระยอง ทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี และทุเรียนจันท์ จังหวัดจันทบุรี