วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2567) ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 4 ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาไทย-จีน 210 สาขา โดยมี นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวรายงานการดำเนินงาน ได้รับเกียรติจากสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้แทนจากสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายหลี่ จิ้นซง ประธาน บริษัท การศึกษานานาชาติ ถังฟง กรุ๊ป คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้บริหารสถานประกอบการจากสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งไทยและจีน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ทุนมนุษย์” เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมการเรียนสองภาษา โดยใช้ AI เน้นทักษะที่ใช้ได้จริง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานในอนาคต ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดีมีความสุข” มุ่งเน้น“การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” และแนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียมและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาของประเทศ
“ความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ไทย-จีน มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของความสัมพันธ์อันดีและยาวนานระหว่างสองประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันในหลายด้าน เช่น การพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนร่วมกันภายใต้โครงการทวิวุฒิไทย-จีน (ครอบคลุมสาขาต่างๆ เช่น เทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ เทคโนโลยีอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะ เทคโนโลยีความร้อนจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ การจัดการโรงแรม เทคโนโลยีการบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง อี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น) การให้ทุนการศึกษา การฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการของจีน การฝึกอบรมอาชีวศึกษา และการแลกเปลี่ยนครู ซึ่งความร่วมมือนี้มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการทั้งในไทยและจีน โดยเน้นการเรียนรู้ ทักษะ สมรรถนะ ภาษาการใช้เทคโนโลยี และการเรียนรู้วัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียนและมีงานทำหลังสำเร็จการศึกษา”
โดยผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่าง ไทย -จีน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ. 2567 (ทวิวุฒิไทย-จีน) จำนวน 18 สาขาวิชา+ภาษาจีน พัฒนามาตรฐานการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทวิวุฒิ หลักสูตรดิจิทัล 20 รายวิชา+ภาษา ศูนย์ฝึกอบรมครูระดับชาติ 2 แห่ง ศูนย์การสร้างมาตรฐานและทรัพยากรอาชีวศึกษาไทย (สื่อดิจิทัล) 8 แห่ง ศูนย์โครงการทวิวุฒิรูปแบบ CCTE (China Cooperation, Chinese Commercial Culture, Technology Training, Education Employment) จำนวน 4 แห่ง
“ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและการตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและจีน การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือทางการศึกษา และจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง/ทยาและจีน ที่มุ่งมั่นและร่วมพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง ไทยและจีน ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” “จงไท่อี้เจียชิน” หวังว่าความร่วมมือนี้จะยกระดับทักษะฝีมือของนักศึกษาสู่มาตรฐานสากลต่อไป“