วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 10 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี มอบหมายให้นายรัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอเมืองลพบุรี เป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง เพื่อสรุปผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อแผนการบริหารจัดการน้ำและแผนงานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง โดยมีนายทินกร รัตนพัวพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม กล่าวรายงานการประชุมเพื่อชี้แจงถึงวัตถุประสงค์และขั้นตอนการประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และการมีส่วนรวม นำเสนอความก้าวหน้าการศึกษาโครงการฯ โดยมีผู้บริหารกรมชลประทาน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง
นายรัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอเมืองลพบุรี กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย ประชาชนทั่วไปและเกษตรกรได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามายาวนาน ก็อยากจะให้ช่วยกันอนุรักษ์รักษาแม่น้ำเจ้าพระยาให้คงอยู่สืบไป กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหนึ่งในการอนุรักษ์รักษาแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพและนำน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก เมื่อโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงรางมีการใช้งานมานานแล้ว จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีศักยภาพในการแจกจ่ายน้ำจากต้นทาง กลางทางและปลายทางให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งกรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง โดยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดเก็บข้อมูลในการวางแผนปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน จึงขอฝากให้ผู้ใช้น้ำแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รักษากฎกติกาอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะส่งผลให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความสามัคคี เมื่อน้ำดี ข้าวดี เกษตรกรก็รวย
นายทินกร รัตนพัวพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ประเภทส่งน้ำและระบายน้ำ โดยใช้น้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาในการส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานไปตามคลองชลประทาน หลังจากใช้งานมาอย่างยาวนานบางส่วนชำรุดเสียหาย ทำให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดังเดิมทั้งโครงการได้ กรมชลประทานจึงมีแผนงานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง จังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2566-2567
โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมมีแผนงานปรับปรุงโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและระบบคลองระบายน้ำ โดยการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทาน 182 แห่ง ถนนคันคลอง 139.39 กิโลเมตร คลองส่งน้ำ 90.45 กิโลเมตร ขุดลอกตะกอนคลองระบายน้ำรวม 2.86 ล้าน ลบ.ม. ซ่อมแซมถนนคันคลองระบาย 1.48 ล้าน ตร.ม. แผนบรรเทาอุทกภัยและการระบายน้ำ โดยการปรับปรุง ปตร.กลางบางคู้ ปตร.บางเพลิง รวมทั้งการปรับปรุงขุดลอกคลองระบายน้ำสายสำคัญในพื้นที่ อาทิเช่น คลองระบายใหญ่เริงราง, คลองระบายใหญ่มหาราช, คลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก3 ฯ เป็นต้น แผนการปรับปรุงแก้มลิงที่สำคัญในพื้นที่ 6 แห่ง ประกอบด้วย หนองช้างทะลุ หนองสมอใส หนองน้ำพล แก้มลิงบางลี่ หนองกระพุ่ม และบึงหางสิงห์ รวมพื้นที่ 533.42 ไร่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง แผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำท่าวุ้ง ด้วยการปรับปรุงคันกั้นน้ำคลองระบายสายใหญ่-ชัยนาทป่าสัก 3 ความยาว 15.31 กิโลเมตร คลองระบาย 1 ซ้ายลพบุรี 8.70 กิโลเมตร คลองระบายใหญ่เริงราง 23 กิโลเมตร คลองตาเมฆ 7.60 กิโลเมตร และก่่อสร้างอาคารประกอบที่สำคัญ ดังนี้ ปรับปรุง ปตร.กลางคลอง ร.1 ซ้ายลพบุรี ปรับปรุงไซฟอนปลายคลอง ร.1 ซ้ายลพบุรี ก่อสร้างท่อระบายน้ำ 35 แห่ง และปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 1 แห่ง
นายไชยวัฒน์ คุณวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงรางมีแผนงานปรับปรุงโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วยแผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและระบบคลองระบายน้ำ โดยการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทาน 187 แห่ง ถนนคันคลอง 195.25 กิโลเมตร คลองส่งน้ำ 96.66 กิโลเมตร ขุดลอกตะกอนคลองระบายน้ำรวม 1.03 ล้าน ลบ.ม. ซ่อมแซมถนนคันคลองระบาย 0.55 ล้าน ตร.ม. แผนบรรเทาอุทกภัยและการระบายน้ำ โดยการปรับปรุง ปตร.บางกุ่ม เพิ่มบานระบาย ขนาด 6×7 ม.จำนวน 3 ช่อง พร้อมก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ขนาด 4.00 ลบ.ม./วินาที จำนวน 3 เครื่อง สำรอง 1 รวมทั้งการปรับปรุงขุดลอกคลองระบายสายสำคัญในพื้นที่ อาทิเช่น คลองบางพระครู คลองระบาย 3 ซ้าย-ลพบุรี และคลองระบาย 4-9 ซ้าย-เริงราง ความยาวรวม 57.45 กิโลเมตร
แผนการปรับปรุงแก้มลิงที่สำคัญในพื้นที่ 2 แห่ง ประกอบด้วย แก้มลิงทะเลสาปบ้านหมอ พื้นที่ 1,738.40 ไร่ และพัฒนาบริเวณคลองระบายใหญ่เริงราง กม. 29+700 พื้นที่ 160 ไร่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง แผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำบางกุ่มด้วยการลอกตะกอนดินในคลองระบายน้ำและปรับปรุงคันกั้นน้ำ และปรับปรุงอาคารประกอบที่สำคัญ ดังนี้ ก่อสร้างท่อระบายปากคลอง ร.4 ซ้าย-เริงราง และปากคลอง ร.1ข-4ซ เริงราง ก่อสร้างประตูระบายน้ำที่สำคัญดังนี้ ปตร.ดอนพุด ปตร.บางมน ปตร.บางเพลิง และปตร.เกาะเลิ่ง
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิเช่น การติดตั้งระบบ IoT (Internet of Things) สำหรับใช้ติดตามควบคุมการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ แผนการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ แผนพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำในการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำทุ่งท่าวุ้งและทุ่งบางกุ่ม แผนการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) ร่วมกันทั้ง 4 โครงการส่งน้ำคลองชัยนาท-ป่าสักทั้ง คบ.มโนรมย์ คบ.ช่องแค คบ.โคกกะเทียม และ คบ.เริงราง แผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครื่องมือของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาให้มีความพร้อมทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ยังได้เสนอให้มีการปรับธรณีปากคลองส่งน้ำสายหลักเพื่อให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบริเวณปากคลองส่งน้ำ และการก่อสร้างแท่นโมบายบริเวณปากคลองเพื่อให้เกษตรกรสามารถตั้งเครื่องสูบน้ำในช่วงที่ระดับน้ำต่ำกว่าธรณีปากคลอง เป็นต้น
นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า กรมชลประทานยังมีแผนงานปรับปรุงโครงการเร่งด่วนที่สำคัญ ประกอบด้วย การปรับปรุงซ่อมแซมระบบชลประทานเดิมที่ชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้ปกติ ได้แก่ คลองส่งน้ำ คลองระบาย และ อาคารชลประทาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำร่วมกับการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาแหล่งน้ำที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้ง
ทั้งนี้ หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งน้ำ การจัดสรรน้ำ และการระบายน้ำได้เต็มพื้นที่ตามศักยภาพระบบการชลประทาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่โครงการ และถ้ามีปริมาณน้ำมากเพียงพอสามารถจัดสรรส่งต่อให้กับพื้นที่ใกล้เคียงได้ รวมถึงการหมุนเวียนทรัพยากรน้ำในระบบได้มากขึ้น เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ในช่วงฤดูฝน 15,400 ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 9,600 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการระบายน้ำพื้นที่น้ำท่วมของโครงการฯ โคกกะเทียมลดลงจำนวน 48,400 ไร่ พื้นที่น้ำท่วมของโครงการฯ เริงราง ลดลงจำนวน 46,100 ไร่ ภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ชลประทานจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ของผลผลิตเดิมก่อนมีการปรับปรุงโครงการชลประทาน คาดว่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี
นายรุจฒิชัย ลีมีชัย เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์โยชน์จากโครงการฯ เกษตรแปลงใหญ่ BCG และกลุ่มบริหารจัดการน้ำ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี และเข้าร่วมโครงการจังหวัดต้นแบบ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ : เมืองคาร์บอนต่ำ แปลงต้นแบบทำนาเปียกสลับแห้ง กล่าวว่า พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่อยู่ปลายน้ำ จึงเกิดปัญหาขาดแคลน้ำในช่วงฤดูแล้งทุกๆ ปี เกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากคลองระบายเข้าแปลงนา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งทางกลุ่มผู้ใช้น้ำได้เสนอปัญหาความเดือดร้อนในที่ประชุมได้รับทราบ เพื่อจะได้วางแนวงทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป และได้เรียกร้องให้กรมชลฯ เร่งดำเนินการวางท่อระบายน้ำเพื่อแจกจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันตนเองทำนา 13 ไร่ ในปี 2566 รายได้รวม 129,285 บาท คิดเป็นรายได้ 9,945 บาท/ไร่ ต้นทุน 3,440 บาท/ไร่ กำไร 6,505 บาท/ไร่
ทั้งนี้ หากโครงการนี้แล้วเสร็จ เกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด จะมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น ต้นข้าวเจริญงอกงามดี ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นด้วย