นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ “การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ” ได้กำหนดนโยบายหลัก “ยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา (Quality)” โดยมีเป้าหมาย คือ คุณภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นสำคัญ ภายใต้การขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ได้ริเริ่มโครงการพิเศษในสาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยี ที่กำลังสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการการศึกษาและอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย
นายสุดชาย บุตรแสนลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครโคราช กล่าวว่า หลักสูตรสาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะทางดนตรี และยังเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นในวงการดนตรีสมัยใหม่ ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาอุตสาหกรรมดนตรี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ประเภทวิชาศิลปกรรม สาขาวิชาดนตรี สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะเฉพาะทางอีกด้วย ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้หลักการและกระบวนการทำงานในกลุ่มงานพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี รวมทั้งสามารถปฏิบัติงาน วิเคราะห์ แก้ปัญหา สร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนางานอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรีได้
โดยมีรายวิชาที่น่าสนใจอย่างทฤษฎีดนตรี การประสานเสียง การบันทึกเสียงขั้นสูง การจัดระบบเสียงสำหรับการแสดงดนตรี การผลิตรายการดนตรีบนสื่อออนไลน์ ศิลปะการแสดงร่วมสมัย การขับร้อง การซ่อมบำรุงเครื่องดนตรี เป็นต้น โดยความน่าสนใจของหลักสูตรนี้อยู่ที่ความหลากหลายของอาชีพที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักร้อง นักประพันธ์เพลง ผู้ประกอบการธุรกิจดนตรี ช่างซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องดนตรี ไปจนถึงผู้ผลิตผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงในอุตสาหกรรมบันเทิงยุคดิจิทัล
โดยมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่เปิดสอน 23 แห่ง ทั่วประเทศไทย ในปีการศึกษา 2567 เป็นปีแรกของการเปิดสอนหลักสูตรนี้ พบว่ามีนักเรียน นักศึกษาให้ความสนใจเข้าศึกษาในสาขานี้เป็นจำนวนมาก โดยมีนักเรียนระดับ ปวช. รวมทั้งสิ้น 107 คน และระดับ ปวส. อีก 26 คน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการศึกษาสายอาชีพด้านดนตรีและเทคโนโลยีในประเทศไทย และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปีการศึกษาต่อไป