มทร.ล้านนา เปิด OPEN HOUSE แนะนำการศึกษา-หลักสูตร ปี 68 ตั้งเป้าเป็นอุทยานวิทยาศาตร์เทคโนโลยีชั้นนำประเทศ พัฒนายกระดับเอสเอ็มอี 500,000 แห่งในภาคเหนือ แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำสังคม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รศ.ดร.อุเทน คำปวน รักษาการราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา เป็นประธานเปิดกิจกรรมเปิดบ้านราชมงคล OPENHOUSE เพื่อแนะนำการศึกษาและหลักสูตรปี 68 ก่อนมีกิจกรรมครูแนะแนวพบผู้บริหารมหาวิทยาลัย มี ผศ.พิสิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน นโยบายและยุทธศาสตร์รศ.วิเชษฐ ทิพย์ประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร อ.อัคค์สัจจา ดวงสุภาสิญจ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ผศ.ดร.อนนท์ นำอิน รองอธิการบดี พร้อมคณบดี หัวหน้าประจำหลักสูตร คณะครู นักศึกษา นักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมแนะนำหลักสูตร กิจกรรมสภานักศึกษาและสโมสรนักศึกษา นิทรรศการคณะวิศวกรรม ศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ  พร้อมลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร 300 บาท และการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อปี 68 ด้วยตนเองภายในงานดังกล่าว เฉพาะหลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการ และเงื่อนไขเป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

นอกจากนี้มีกิจกรรม work shop และแนะนำหลักสูตรแต่ละสาขา พร้อมรับใบประกาศนียบัตร และการพิจารณาเป็นนักศึกษาโควต้าพิเศษในบางหลักสูตรด้วย

รศ.ดร.อุเทน กล่าวว่า มทร.ล้านนา มี 6 แห่ง คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน ตาก และพิษณุโลกเป็น 1 ใน 5 กลุ่มมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 160 แห่ง และเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 ใน 19 แห่ง ที่เป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ตอบสนองความต้องการตลาดแรงงานชั้นนำในประเทศ หรือตลาดโลกเป็นหลัก โดยปรับปรุงหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ และนายจ้าง ขณะเดียวกันมีรายได้ระหว่างเรียน อาทิ ปวช.ไฟฟ้า เฉลี่ย 6,000-7,000 บาท/เดือน หรือเปิดบริษัทและกิจการระหว่างเรียนหรือสตาร์ทอัพ รวมทั้งร่วมกับบริษัทชั้นนำในและต่างประเทศพัฒนาบุคลากร เพื่อยกระดับทรัพยากรมนุษย์ และการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

“กลุ่มเป้าหมายนักเรียน และนักศึกษาที่ มทร.ล้านนา ต้องการให้ศึกษาต่อ มี 2 ส่วน คือ กลุ่มการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มนอกระบบ ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสและเป็นทางเลือกคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย” รศ.ดร.อุเทน กล่าว

ในอนาคต มทร.ล้านนา มีแผนพัฒนาและยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นนำในประเทศ โดยเป็นอุทยานวิทยาศาตร์ เทคโนโลยีชั้นสูงของภาคเหนือ เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของภาคเหนือ ที่มีกว่า 400,000-500,000 แห่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นกิจการขนาดใหญ่  เปิดกิจการใหม่ หรือขยายสาขากิจการตามภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย