สพฐ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบเขตภาคกลาง หวังร่วมพลิกโฉมการศึกษาด้วย GPAS 5 Steps

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉม คุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครู ตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและ บุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา

ดร.ศุภวิชญ์ ดิษเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครสวรรค์ เขต 1 กล่าวว่า จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ สพป.นครสวรรค์ เขต 1 มีการอบรมการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก Active Learning มาบ้างแล้ว แต่วันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ โรงเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ทั้ง 5 โรง ในสังกัด สพป.นครสวรรค์ เขต 1 ได้มาเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก Active Learning ด้วยกระบวนการเรียนคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อนำกลับไปสู่ผู้เรียน

“จากที่ได้ศึกษาพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก Active Learning ด้วยกระบวนการเรียนคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เชื่อว่า การอบรมวันนี้จะเป็นการเสริมอาวุธทางวิชาการให้ครูนำกลับไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ และเชื่อว่าอย่างน้อยเด็กจาก 5 โรงเรียนจะได้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ( 3 R 8 C ) เพราะนักเรียนจะได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกับครูไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและนำไปสู่การเป็นนวัตกรต่อไป

ดร.ดวงพร แสงทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ จะทำให้ครูมีเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ ซึ่งเมื่อครูนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้แล้วจะทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการเรียนที่ดีมากขึ้นได้ เกิดสิ่งที่สร้างสรรค์มากขึ้น มีผลการเรียนดีขึ้น และเข้าใจทักษะของกระบวนการเรียนมากขึ้น รวมถึงสามารถคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ หลังจากครูรับการอบรมแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการโค้ชชิ่ง คือ เมื่อครูนำไปใช้เกิดปัญหาหรือข้อสงสัยก็สามารถมาปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากทีมวิทยากร เพื่อกลับไปพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งของผู้สอนและผู้เรียน และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการค้นหาครูต้นแบบต่อไป

ดร.สาริกา ราชบุญทอง รอง ผอ. สพป. นครสวรรค์ เขต 3 กล่าวว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมาก เนื่องจากบริบทของโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเรายังยึดติดกับการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เราไม่สามารถสร้างผู้เรียนให้ทันโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ครูจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้การจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ มีความสุขกับการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นพื้นฐานของการนำไปสู่สมรรถนะเพราะฉะนั้นการที่ครูสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้ จะนำไปสู่การสร้างผู้เรียนที่ทันต่อโลกของการเปลี่ยนแปลง

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของหลักสูตร คือกระบวนการ ซึ่งจะพาเด็กคิด เด็กทำ เด็กประเมินจนสามารถพัฒนาผลงานเป็นนวัตกรรม ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ในเชิงวิชาการแล้วเนื้อหาจะต้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ดังนั้นไม่ว่าเนื้อหาการเรียนรู้จะเป็นอดีตจนถึงปัจจุบัน หรืออนาคต เราจะต้องนำกระบวนการเรียนรู้มาเป็นตัวหลัก เพื่อให้ผ่านกระบวนการคิดมากรอง ให้เป็นเหตุและเป็นผล ประโยชน์และโทษในสิ่งที่จะเกิดขึ้น จากนั้นก็จะมาวิเคราะห์ถึงความงาม ความดี คุณธรรม และค่านิยมของมนุษย์ จะนำไปใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ถ้าใช้ได้จริงก็ต้องมีการวางแผนให้เป็นขั้นเป็นตอนจนเกิดผลที่ปลายทางโดยไม่เจออุปสรรค์ ซึ่งก็คือกระบวนการคิดเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตามหลักสูตร

“หลักสูตรที่ใช้อยู่เป็นมาตรฐานสากล และเป็นมาตรฐานที่ประเทศชั้นนำใช้อยู่ ประเด็นสำคัญที่สุด คือ จะปรับเปลี่ยนวิธีสอนวิธีเรียนอย่างไรให้เป็น Active Learning ตามแนวทางแผนปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่เราประกาศใช้แล้ว และ สพฐ. กำลังนำร่องแล้วขยายผลอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับนักเรียนทั่วประเทศ อีกทั้งกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ได้นำไปใช้ทั่วโลก ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นเนื้อหาก็เป็นเพียงมาตรฐานตัวชี้วัดของสมรรนะต่าง ๆ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่อบรมพัฒนาครูให้เรียนรู้การเรียนการสอนแบบ Active Learning 80% ครูเริ่มเข้าใจแล้วและสามารถนำหลักการเรียนรู้นี้ไปสอนเด็กให้เข้าใจได้ และเด็กสามารถนำหลักการไปเรียนรู้ได้ทุกศาสตร์ และถึงแม้ว่าขณะนี้เด็กอยู่ในยุคดิจิทัล ถ้าเด็กเรียนรู้ถึงกระบวนการคิดและเข้าใจทุกศาสตร์ทุกวิชาแล้ว เด็กจะสามารถเรียนรู้ไปได้ไกล และจะสามารถสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเองได้”ดร.ศักดิ์สิน กล่าว

นายจตุรวิทย์ สระทองขาว ผู้อำนวยการโรงเรียนเกยชัยเหนือ กล่าวว่า ยอมรับว่าเมื่อจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนก็ต้องมีความยุ่งยากเกิดขึ้นแน่นอน แต่วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของครูที่ได้มารับการอบรมเพื่อนำแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้กลับไปพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น

นางสลิลทิพ ชูชาติ โรงเรียนอนุบาลโกรกพระ กล่าวว่า ที่โรงเรียนอนุบาลโกรกพระ ได้มีการสร้างความตระหนักในเรื่องการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการให้กับครูเพื่อนำไปสู่นักเรียนมาโดยตลอด โดยให้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะของโครงงานที่เป็นการร่วมกันคิดและปฏิบัติโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งการที่ครูได้เข้าร่วมการอบรมวันนี้จะช่วยครูได้มากทีเดียว

ดร.จันทร์เพ็ญ สุวรรณคร ครูวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)สุพรรณบุรี กล่าวว่า ครูที่เข้ามาอบรมจะได้เห็นแนวทางการจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้ครูได้ร่วมมคิดและฝึกทักษะกระบวนการ จนเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการเรียนคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps และรู้แนวทางว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป