เลขาธิการ กพฐ. โชว์การขับเคลื่อนโครงการ“1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้ครบ100% เร็วกว่าแผนที่กำหนด-จัดสรรงบฯค่าใช้บริการรายเดือนให้โรงเรียนแล้ว
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ว่า การดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา (สพฐ.) ได้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้แก่โรงเรียนในโครงการฯ จำนวน 1,808 โรงเรียน ครบ 100% แล้ว ซึ่งหากเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บนเกาะแก่ง อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ เขตพื้นที่ทหาร ทาง สพฐ.ก็ได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคนแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เข้าไปติดตั้งให้ ซึ่งสามารถติดตั้งได้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สพฐ.ก็ได้ร่วมกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี จัดอบรมออนไลน์ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ICT Talent ภาครัฐ ให้แก่บุคลากรในโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จำนวน 3,785 คน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และได้รับการพัฒนาทักษะด้าน ICT เพื่อยกระดับการใช้ ICT ในการบริหารจัดการสถานศึกษา และจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพไปแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่า ครูสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้ ทำให้โรงเรียนสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
“โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เป็นนโยบายสำคัญของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการสร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นการสร้างความเสมอภาคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งผมให้ความสำคัญติดตามการดำเนินโครงการฯอย่างใกล้ชิด โดย สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โรงเรียน และสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เพื่อไปดำเนินการเช่าใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ประจำปีงบประมาณ 2567 ดังนี้ โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ได้รับงบฯโรงเรียนละ 1,300 บาทต่อเดือน โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121 – 300 คน ได้รับงบฯ โรงเรียนละ 1,950 บาทต่อเดือน โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 301 – 500 คน ได้รับงบฯโรงเรียนละ 2,600 บาทต่อเดือน โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 501 – 2,000 คน ได้รับงบฯ โรงเรียนละ 3,900 บาทต่อเดือน โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 2,001 คนขึ้นไป ได้รับงบฯ โรงเรียนละ 6,000 บาทต่อเดือน ศูนย์บริหารการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) จะได้รับจัดสรรงบฯโรงเรียนละ 650 บาทต่อเดือน สพท.เขตละ 7,500 บาทต่อเดือน ศูนย์การศึกษาพิเศษและกลุ่มวิจัยและพัฒนาสื่อฯ สศศ. แห่งละ 1,300 บาทต่อเดือน ส่วนโรงเรียนที่ใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบดาวเทียม จัดสรรให้ตามค่าเช่าใช้บริการที่มีการเบิกจ่ายจริง นอกจากนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ก็ยินดีให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ตแก่ โรงเรียนคุณภาพของ สพฐ. จำนวน 1,808 โรงเรียน ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนคุณภาพที่ Uninet เคยเดินสายระบบไฟเบอร์ออฟติคไว้แล้ว จำนวน 1,499 โรงเรียน ซึ่ง สพฐ.อยู่ระหว่างการพิจารณาการจัดหาอุปกรณ์ เพื่อเชื่อมต่อใช้งานอินเทอร์เน็ตจากโครงข่าย Uninet รวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว