พุทธศาสนิกชนแห่ทำบุญตักบาตร-ไถ่ชีวิตโคกระบือ 57 ตัว มอบข้าวกองบุญปันสุขกลุ่มเปราะบาง เนื่องในวันวิสาขบูชา ที่วัดป่าดาราภิรมย์พระอารามหลวง แม่ริม

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ที่วัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พุทธศานิกชน ได้ร่วมทำบุญตักบาตร หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร หรือพระราชวัชรปัทมคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าปางกึ๊ดกิตติธรรม อ.แม่แตง ที่ลงรับบาตร ร่วมกับพระภิกษุสงฆ์ 9 รูป พร้อมวางดอกไม้ และสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นความสิริมงคลเนื่องในวันวิสาขบูชาจำนวนมาก

จากนั้นพระเทพวชิราบดี เจ้าอาวาสวัดป่าดาราภืรมย์ พระอารามหลวง เป็นประธานส่งมอบข้าวกองบุญข้าวดาราภิรมย์ปันสุขให้กับนายวรพงษ์ บุญเคลือบ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่เพื่อนำไปจัดเป็นถุงยังชีพให้กับกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาสในพื้นที่เชียงใหม่

ต่อมา พระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน (พระครูอ๊อด) วัดเจดีย์หลวง วรวิหารและศิษยานุศิษย์ ได้ทำพิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือ จำนวน 57 ตัว เพื่อมอบถวายแด่พระเทพวชิราบดี ประธานมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท วัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวง ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ ก่อนส่งต่อมอบให้ พ.ต.อ.คมสัน พุ่มไพศาลพชัย ประธานกองทุนส่งเสริมอาชีพครอบครัวตำรวจ เพื่อส่งให้แก่ข้าราชการตำรวจในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อนำไปเลี้ยงดูแลตามเงื่อนไขธนาคารโค-กระบือ ซึ่งการไถ่ชีวิตโค-กระบือดังกล่าว ได้ส่งไปยังพื้นที่ จ.แพร่ เป็นจังหวัดแรกก่อน

พระเทพวชิราบดี กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการมากว่า 50 ปีแล้วเบื้องต้นได้ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ตามกำลังทรัพย์ผู้บริจาค รวมกว่า 3,000 ตัวแล้ว และไถ่ชีวิตช้างอีก 19 เชือก ซึ่งปีนี้ได้ขยายเครือข่ายธนาคารโค-กระบือ ไปยังกลุ่มข้าราชการตำรวจ และข้าราชการครู เพื่อส่งเสริมอาชีพและเป็นรายได้เสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม ภายใต้เงื่อนไขห้ามฆ่าห้ามขาย ห้ามแลกเปลี่ยน และดูแลจนกว่าสิ้นอายุไข โดยมีการควบคุมติดตามประเมินตลอดเวลา ซึ่งวันวิสาขบูชา อยากให้พุทธศาสนิกชนทำบุญสร้างกุศลอย่างมีสติ ยึดหลักคำสอนพุทธองค์ เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต และเมตตาสัตว์ เพื่อต่ออายุไขให้ยืนยาว ถือว่าได้บุญกุศลโดยตรง และช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ที่นำโคกระบือไปเลี้ยงดูแลดังกล่าว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองต่อไป

พระครูอ๊อด กล่าวว่า มีวัวควายที่อยู่ในโครงการดังกล่าวรวมกว่า 6,000 ตัวแล้ว ซึ่งกระจายการดูแลและเลี้ยงไปยังกลุ่มเกษตรกร และทุกกลุ่มสาขาอาชีพ โดยกลุ่มข้าราชการตำรวจ จ แพร่ นำไปเลี้ยงดูแลกว่า 500 ตัวกลุ่มครวญช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง อีก 300 ตัว รวมทั้งดูแลช้างที่ถูกไถ่ชีวิตอีก 19 เชือก ซึ่งมีผู้บริจาคไถ่ชีวิตโค-กระบือ ต่ำสุดตัวละ 8,000-9,000 บาท แพงสุด 30,000-40,000 บาท/ตัว ส่วนไถ่ชีวิตช้าง ต่ำสุดเชือกละ 350,000 บาท แพงสุด 2.1 ล้านบาทขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ ความเชื่องของสัตว์ดังกล่าวด้วย

พ.ต.อ.คมสัน กล่าวว่า ตำรวจที่เข้าโครงการดังกล่าว ต้องรักสัตว์ มีความพร้อมเลี้ยง อาทิ คอก อาหาร แหล่งน้ำ ส่วนใหญ่เลี้ยงในสวน ไร่นา หรือครอบครัวเป็นเกษตรกร ไม่ใช่ปล่อยเลี้ยงแบบตามมีตามเกิด ถ้ามีพื้นฐานเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว สามารถเลี้ยงดูแลง่าย ซึ่งมีการติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด มีทะเบียนประวัติควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หากเกิดลูกตัวแรก ต้องส่งมอบให้มูลนิธิ หรือกองทุนดูแล ส่วนลูกตัวที่ 2 สามารถนำไปขายได้ เพื่อเป็นอาชีพและมีรายได้เสริม โดยไม่กระทบกับงานประจำอย่างใด