เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ น.ส.ณัฐฌาย์ สุรดิษฐ์อังวรา นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภาคเหนือ (สมก.น.) เป็นประธานเปิดงานเขียวธงขจี ปี๋ใหม่เมือง พร้อมเสวนา “ดิน น้ำ ป่าไม้ ในใจ KU (กู)” โดยมีนายบัณฑิต ตันศิริ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายธานี วิริยะรัตนพร อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ นายภาดลถาวรกฤษรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นวิทยากรบรรยาย นายวิริยะ ช่วยบำรุง อดีตผู้อำนวยการสำนักป่าไม้เขตเชียงใหม่ เป็นพิธีกร พร้อมนายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) นิสิตเก่าอาวุโส 50 คน และศิษย์เก่า เข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายบัณฑิต กล่าวในงานเสวนา ว่าภาพรวมประเทศมีพื้นที่ป่า 230 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตร 170 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ทำเกษตรเหมาะสม 120 ล้านไร่ แต่การสำรวจป่าในประเทศเหลือเพียง 101 ล้านไร่ กรมพัฒนาที่ดิน สำรวจเหลือพื้นที่ 103 ล้านไร่ แต่ไม่แตกต่างกัน อยากแนะใช้พื้นที่ 1-2 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียว อาทิ ส้มโอ มะยมชิด เงาะทุเรียน ส้ม ล้นจี้ และมะม่วง สร้างพื้นที่ชุ่มชื้น ลดพื้นที่ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5
นายภาดล กล่าวว่า ได้พัฒนาแหล่งน้ำหรือโมเดลที่ อ.แม่แจ่ม โดยเปลี่ยนข้าวโพดเป็นไม้ยืนต้นกว่า 400,000ไร่ ภายใน 4 ปี ซึ่งได้พูดคุยกับองค์กรปกครองท้องถิ่น 7-8 เพื่อทำสระน้ำแก้ภัยแล้ง 2,000-3,000 ไร่แล้วเพราะการพัฒนาแหล่งน้ำง่ายมากแต่สิ่งที่ยาก คือ ต้นน้ำที่ป่าหดหาย และพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีคุณภาพ เพื่อ
สร้างป่าแบบยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณแผ่นดิน มหาวิทยาลัย และเพื่อนพี่น้อง ที่ให้กำลัง สนับสนุนพร้อมบริจาคเงิน 500,000 บาทต่อสู้คดี และถูกให้ออกราชการเป็นเวลา 19 เดือน เพื่อใช้ชีวิตทำเกษตรและทำไร่ทำสวน ก่อนชนะคดีและกลับเข้ารับราชการใหม่ หลังสู้คดียังเหลือเงินกว่า 200,000 บาท จึงอยากมอบเป็นทุนการศึกษาให้น้อง เพื่อทดแทนบุญคุณสถาบันด้วย
ปัจจุบันพื้นที่ป่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 20 % ป่าไม้อีก 10 % รวม 30 % ควรแบ่งป่าเป็นพื้นอนุรักษ์ คุ้มครองและใช้ประโยชน์ เพื่อเกิดความสมดุลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนตัวคัดค้านการให้เอกชนปลูกป่าคาร์บอน ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 ต้น/ไร่แต่เห็นด้วยปลูกป่าคาร์บอน 200 ต้น/ไร่ โดยแบ่งปันผลประโยชน์เอกชน 90% ภาครัฐ 10% ล่าสุดสภาผุ้แทนราษฎร หรือ ส.ส. กำลังร่างส่งเสริมเอกชนปลูกป่าคาร์บอน เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าด้วย
“ปัญหาแนวเชื่อมต่อเขตป่าไม้สำคัญที่สุด เพราะกระทบสัตว์ป่า ไม่มีที่หลบภัย เสี่ยงต่อการตาย หรือสูญพันธ์ได้หากพัฒนาแหล่งน้ำ อาทิ บึง สระ สามารถเป็นที่พักและหลบภัยสัตว์ป่าได้โดยเฉพาะสัตว์ปีก ที่อพยพถิ่นฐานในช่วงอากาศหนาว หรือฤดูแล้งเพราะรัฐบาลมียุทธศาสตร์เพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 55 % ของพื้นที่ทั้งหมด” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชีวะภาพ กล่าวว่า ได้ขอลาออกราชการ ตั้งแต่มีนาคม ที่ผ่านมา มีผลตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมนี้ เหลือเวลาอีก 9 วันเท่านั้น จึงขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในทางวิชาการประเมิน ว่า ประเทศ มีป่าหายวันละ 1,000 ไร่ หรือ เดือนละ 30,000 ไร่ ปีละ 360,000 ไร่ ทำให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและมีค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้นอยากให้เพื่อนพี่น้อง KU (กู) ต้องมีความกล้าหาญ ปกป้องคุ้มครองผินป่าของประเทศให้เป็นสมบัติคนรุ่นหลังต่อไป
จากนั้นนายวิริยะ เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ซักถาม เสนอแนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเสวนาดังกล่าวก่อนรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองและอบอุ่นด้วย