เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 น. โดย พล.ต.อ.พัชวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันช้างไทยของ จ.ลำปาง โดยมี นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวรายงานในกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยมีส่วนราชการของจังหวัด ประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ ให้ความสนใจเดินทางเข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก
โดยปีนี้ ทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในพระอุปถัมภ์ฯ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ได้จัดกิจกรรมจัดเลี้ยงช้างในสะโตกใบใหญ่ หรือขันโตกใบใหญ่ขึ้นบริเวณลานกิจกรรมช้าง ที่มีพืชผัก และผลไม้ที่ช้างกินได้ เช่น กล้วย อ้อย แตงโม สับปะรด ข้าวโพด และฝักทอง เป็นการจัดเลี้ยงอาหารช้าง ได้กินอย่างมีความสุข ซึ่งภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับช้างไทย , การประกวดจัดแต่งซุ้มอาหารช้างของหน่วยงานต่างๆ ตามแนวคิดสร้างสรรค์ ด้วยการนำอาหารช้าง และวัสดุทางธรรมชาติ มาตกแต่งให้เกิดความสวยงาม และมีความหมายในการอนุรักษ์ช้าง และวิถีชีวิตท้องถิ่น รวมถึงการมอบใบประกาศนียบัตร และคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง ระดับ 2 ให้กับควาญช้างที่ผ่านการสอบ
โดย พล.ต.อ.พัชวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ยังได้นำอาหารช้างที่อยู่ในกระเช้าขึ้นไปวางบนสะโตก เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงอาหารช้างได้กินอย่างเอร็ดอร่อย ท่ามกลางประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่มาร่วมกิจกรรมจัดเลี้ยงอาหารช้าง ก็ยิ้มอย่างมีความสุข ที่เห็นช้างกินอาหารบนสะโตก ที่ทุกภาคส่วน และทุกฝ่าย มาร่วมจัดเลี้ยงอาหารในครั้งนี้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาเที่ยว ก็ให้ความสนใจดูกิจกรรมดังกล่าวกันอย่างคึกคักเช่นกัน
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 เพื่อให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รัก และหวงแหนช้างไทย ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้างให้มากขึ้น เนื่องจากคนไทยมีวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่ในอดีต อีกทั้งยังมีความเคารพ และศรัทธาช้าง ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา และช้างยังมีความเกี่ยวพันกับสถาบันหลักของชาติไทย ทั้งกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
โดยผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือก ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ประเทศไทย มีหน่วยงานในการดูแล และอนุรักษ์ช้าง คือ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ส.คช.) หน่วยงานในสังกัด องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่มีภารกิจในการอนุรักษ์ และบริบาลช้างไทย
ด้าน นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สถาบันคชบาลแห่งนี้ มีช้างอยู่ในความดูแล จำนวน 111 เชือก และมีช้างสำคัญที่พำนักอยู่ ณ โรงช้างต้น จำนวน 6 ช้าง ช้างในพระองค์ จำนวน 13 ช้าง นอกจากนี้ ทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ ยังดูแลหน่วยงานในสังกัด ทั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และโรงพยาบาลช้าง อ.ห้างฉัตร , ศูนย์บริบาลช้าง บ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง และโรงพยาบาลช้างกระบี่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เพื่อดำเนินงานอนุรักษ์ และรักษาช้างไทย ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่จะเชิญชวนคนไทยได้ร่วมกันรำลึกถึงบุญคุณ รวมทั้งได้เชิดชูคุณค่า และเกียรติของช้างไทย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของล้านนา
สำหรับในการจัดงาน ‘วันช้างไทย ประจำปี 2567’ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของช้างไทย ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ และมีส่วนร่วมในการระลึกบุญคุณของช้างที่มีต่อประเทศชาติ และคนไทย ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่สนใจ รับรู้เรื่องราวของช้าง ทั้งในเรื่องประเพณี วัฒนธรรม การเลี้ยงช้างของไทยมากยิ่งขึ้น สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับต่อสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง และเพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู วัฒนธรรม ประเพณี และร่วมสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามสืบไป โดยในปี 2567 อ.อ.ป. ได้กำหนดรูปแบบการสื่อสารในเรื่องการร่วมรำลึกถึงคุณค่าของช้างไทย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของล้านนา
อ.อ.ป. มุ่งหวังผลลัพธ์จากการจัดงานในครั้งนี้ จะสามารถทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมระลึกบุญคุณของช้างไทย ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงสามารถการสานต่อแนวทางการอนุรักษ์ช้างไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไปเพิ่มมากยิ่งขึ้น และร่วมมือร่วมใจกันแสดงพลังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการมองเห็นคุณค่า และความสำคัญของช้างไทย พร้อมปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ช้าง ควบคู่ไปกับการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของล้านนาเพิ่มมากขึ้น