วันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ปางช้างแม่แตง หมู่ 2 ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตงจ.เชียงใหม่ นางวาสนา ทองสุข ผู้บริหารปางช้างแม่แตง เป็นประธานพิธีทำบุญ เนื่องในวันช้างไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลแก่ช้างที่ล่วงลับ มีพระเปลี่ยน สันติโก เจ้าอาวาสวัดป่าน้ำริน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม เป็นประธานสงฆ์ พร้อมพระสงฆ์ทำพิธีรวม 9 รูป ก่อนสวดเจริญพระพุทธมนต์ และพรมน้ำมนต์แก่ครวญช้างที่ดูแลช้าง จำนวน 63 เชือกซึ่งมีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่ง จนถึง 76 ปีและนักท่องเที่ยว ที่มาชมการแสดงช้างแสนรู้ มีนายสงวน ขัยเลืศ ประธานที่ปรึกษา นางพารวย ชัยเลิศนางเพชรินทร์ ชัยเลิศ ผู้บริหารปางช้างแม่แตง พร้อมเจ้าหน้าที่ พนักงานและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมจำนวนมากซึ่งได้สร้างความตื่นเต้น ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้เห็นพิธีทำบุญดังกล่าวครั้ง
นางวาสนา เผยว่า หลังโควิดเกือบ 2 ปีธุรกิจท่องเที่ยวปางช้าง มีแนวโน้มดีขึ้น ตามลำดับ ช่วงปีแรก ไม่ค่อยดีเท่าไร แต่พออยู่ได้ จนกระทั่ง 6 เดือนที่ผ่านมา ปางช้างส่วนใหญ่คึกคัก โดยเฉพาะปางช้างแม่แตงแน่นทุกวัน ส่วนมากเป็นชาวเกาหลีใต้ และยุโรป ส่วนนักท่องเที่ยวจีนยังน้อยอยู่ อีก 2 เดือนข้างหน้า คาดมีนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น
“ปางช้างแม่แตง ได้ปรับราคากิจกรรมเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งเอเย่นซี่ ไกด์ทัวร์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจ ยอมรับราคาดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด ที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้ปางช้างไม่มีเงินสด หรือขาดสภาพคล่องทันที ไม่สามารถดูแลช้างได้ เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายเดือนละ 2 ล้านบาท ถ้าไม่มีท่องเที่ยว ยอมรับว่าช้างอยู่ไม่ได้” นางวาสนา กล่าว
นางวาสนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันได้ปรับกลยุทธ์ปางช้าง เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ โดยนำช้างกว่า 50 % มาให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรม อาทิ เลี้ยงและอาบน้ำช้าง เก็บขี้ช้างทำกระดาษสา วาดภาพ นั่งช้าง และกิจกรรรมเรียนรู้พฤติกรรมช้าง เพื่อให้คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้ ส่วนช้างที่ดุร้าย หรือมีพละกำลังมาก บางส่วนนำไปชักลากไม้ ตามความถนัดและเหมาะสม ไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์ เพราะมีกฏหมายช้างคุ้มครอง และมาตรฐานปางช้างกำกับควบคุมดูแลอยู่ ที่สำคัญคนเลี้ยงช้าง มีความรัก ผูกพันอยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง จึงอยากให้สังคมเข้าใจปางช้าง และคนเลี้ยงช้างมากขึ้น
“กรณีองค์กรเอ็นจีโอ โจมตีธุรกิจปางช้าง ให้ครวญทารุณกรรมช้าง เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเบาบางลงแล้ว เพราะข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ไม่เป็นความจริงอย่างใด สังคมรับรู้และมองเห็นความเป็นจริงดังกล่าว แต่ยอมรับว่าโซ่และตะขอ เพื่อใช้บังคับช้าง ยังมีความจำเป็นอยู่ ตามวัฒนธรรมเลี้ยงช้างที่มีมายาวนานแล้ว ถือเป็นวิถีชีวืตคนเลี้ยงช้างอย่างหนึ่ง ไม่ได้มีเจตนาใช้เครื่องมือดังกล่าว เพื่อทารุณกรรมสัตว์ตามข้อกล่าวหา เพราะคนเลี้ยงช้างมุ่งรักษาสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตช้างให้ดีขึ้นอยู่แล้ว” นางวาสนา กล่าว
นางวาสนา กล่าวอีกว่า อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวปางช้าง ในพื้นที่ อ.แม่แตง เพราะมีอยู่กว่า 30 ปางรวมกว่า 500 เชือก ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว 50 % และเลี้ยงแบบธรรมชาติ หรือโลกสวย 50 % ตามอายุ ศักยภาพ และความสามารถช้างแต่ละเชือก ซึ่งปางช้างแม่แตงได้สร้างร้านอาหาร และห้องประชุมขนาดใหญ่เพิ่มเติม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว 1,000-2,000 คนได้ ซึ่งมีแผนนำช้างเข้าสู่ท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย