ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงแห้งแล้งกันดารขาดแหล่งน้ำ ชาวบ้านมีทางเลือกเดียวคือปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา แต่ทว่าปัญหาหนี้สินก็พอกพูนขึ้นทุกวัน สำหรับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
กระทั่งปี 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลยเข้าไปช่วยเหลือดำเนินการสนับสนุนขุดสระน้ำเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จากนั้นคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาหารือร่วมกับทีมงานเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปว่าจะส่งเสริมอาชีพปลูกกุหลาบตัดดอกให้กับสมาชิก เนื่องจากเป็นไม้ดอกที่ปลูกง่าย ไร้โรคแมลงรบกวน ที่สำคัญความต้องการของตลาดสูงมาก จึงเป็นที่มาของแปลงนำร่องต้นแบบปลูกกุหลาบตัดดอกสายพันธุ์ฮอลแลนด์และฮังการีของนายอัศวิน ศรีบุรินทร์ เลขานุการกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา บนเนื้อที่ 4 ไร่ ๆ ละ 1,000 ต้น เมื่อปลายปี 2563 ปัจจุบันเก็บเกี่ยวผลผลิตตัดดอกทุกวัน มีรายได้เฉลี่ยวันละ 5,000 -20,000 บาท โดยมีพ่อค้าทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดมารับซื้อถึงแปลงปลูก
นางสาววิไลพร พานกระดึง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย กล่าวถึงโครงการปลูกกุหลาบตัดดอกของกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ในฐานะหัวหน้าโครงการที่ดูแลกลุ่มนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นปี 2563 ว่าด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมทั้งสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ และเป็นไม้ดอกที่มีความต้องการของตลาด ให้ผลตอบแทนเร็ว มีอายุการเก็บเกี่ยวนยาวนานถึง 5 ปี สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี จึงได้ปรึกษากับทางเกษตรจังหวัดและเกษตรที่สูง รวมถึงผู้มีความรู้ต่างเห็นตรงกันว่าการปลูกกุหลาบตัดดอกน่าจะเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในพื้นที่อำเภอภูเรือยังไม่มีใครปลูกมาก่อน จะมีก็เพียงกุหลาบหนู ซึ่งจำหน่ายทั้งต้นทั้งดอกเท่านั้น
“กุหลาบตัดดอกส่วนใหญ่จะมีแต่โซนภาคเหนือ ที่อำเภอภูเรือมีกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ปลูกกุหลาบตัดดอกขาย ส่วนการตลาดจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ เช่น จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย ซึ่งพ่อค้ากลุ่มนี้จะมีออเดอร์แจ้งมาก่อน ตอนนี้กุหลาบตัดไม่พอขาย ราคาโดยเฉลี่ย 2-5 บาท/ดอก” นางสาววิไลพร กล่าว
หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาในการปลูกกุหลาบตัดดอกเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้แล้ว ในอนาคตจะพัฒนาเป็นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาชมสวนดอกกุหลาบ ถ่ายรูปเช็คอิน สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนอีกด้วย ส่วนดอกกุหลาบตกเกรดก็จะไม่ทิ้ง แต่จะนำมาแปรรูปเป็นถุงหอมเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
“กุหลาบตกเกรดเหรอ เราจะไม่มีการทิ้งเลย นำมาแปรรูปขายได้หมด ตอนนี้จะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภายนอก เพื่อมาถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มเติม เพราะขณะนี้สมาชิกเกษตรกรในพื้นที่เห็นแล้วว่าการปลูกกุหลาบตัดดอกสามารถปลดหนี้ได้จริง” นักวิชาการสหกรณ์ฯ คนเดิม กล่าวย้ำ
ขณะที่ นายอภิไท มังธานี สหกรณ์จังหวัดเลย เผยว่า ในจังหวัดเลยมีสหกรณ์การเกษตรทั้งหมด 108 แห่ง และมีหนี้คงค้างประมาณหนึ่ง แต่เราได้ดำเนินการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มจากแก้หนี้สหกรณ์ใหญ่ ๆ ก่อน จากนั้นก็ขยายผลไปที่สหกรณ์ขนาดย่อม
“ผมย้ำเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดว่าการแก้ไขหนี้ คือ การสร้างรายได้ ซึ่งการสร้างรายได้ก็มาจากการส่งเสริมอาชีพ อย่างเช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เป็นต้น เพราะการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพเหล่านี้ให้มีรายได้ ย่อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระต่อไป โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต” นายอภิไท กล่าว
นอกจากนี้ สหกรณ์จังหวัดเลยยังได้ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาที่ทางกลุ่มสนับสนุนให้สมาชิกปลูกกุหลาบตัดดอก แม้จะเป็นอาชีพเสริม แต่ก็สามารถทำรายได้หลักให้กับสมาชิก จนสามารถนำเงินมาชำระหนี้คงค้างได้ 100 % ในวันนี้ ซึ่งจากนี้ไปก็จะขยายผลไปยังสมาชิกสหกรณ์กลุ่มอื่นต่อไป เนื่องจากเป็นไม้ดอกที่ทำเงินและมีรายได้จากการตัดดอกขายทุกวัน
“อำเภอภูเรืออยู่ในหุบเขา อากาศเย็นสบายทั้งปี กุหลาบชอบอากาศเย็น เพียงแต่ที่ผ่านมาขาดน้ำ พอดีมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อระบบน้ำ เกษตรกรก็ตอบรับทันที ตอนนี้ปรากฏว่าเป็นอาชีพเสริมมาแรงกว่าอาชีพหลัก อย่างยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพราะรายได้ดีกว่า ส่วนพืชอื่นกำลังหารือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เพื่อมาวิจัยตลาดไม้ดอกไม้ประดับตัวอื่นด้วย แต่ตอนนี้ขอกุหลาบเป็นไม้ดอกนำร่องก่อน” นายอภิไท กล่าว
สำหรับโครงการส่งเสริมอาชีพการปลูกกุหลาบให้กับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลยนั้น เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งจะเห็นว่าในปี 2564 มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 31 ราย รวมมูลหนี้ทั้งสิ้น 844,522 บาท ทำให้สมาชิกมีรายได้สามารถส่งชำระหนี้ได้จำนวน 15 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของสมาชิกทั้งหมด ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระได้และยังมีรายได้ มีเงินออมเพิ่มขึ้น หนี้สินลดลงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต่อมาในปี 2565 มีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 16 ราย เป็นเงิน 1.85 แสนบาท และในปี 2566 ที่ผ่านมา เหลือลูกหนี้ที่ผิดชำระหนี้เพียง 4 ราย เป็นเงิน 2.5 แสนบาท จนปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 1 มี.ค.67) กลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาสามารถเก็บหนี้ค้างชำระได้เต็มจำนวน คิดเป็นร้อยละ 100 ของหนี้ค้างชำระทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลายังได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลยส่งสมัครเข้ารับรางวัลการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ในโครงการรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ด้วย