วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร
ให้เข้มงวดกวดขันในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นหน่วยงานในสังกัดกรมศุลกากรจึงให้ความสำคัญกับการเข้มงวดตรวจสอบสินค้าทุกประเภทที่นำเข้าและส่งออกนอกราชอาณาจักร ร่วมถึงมีการประสานความร่วมมือในด้านการข่าวกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 กรมศุลกากร ร่วมกับ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 9 (ชลบุรี) และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชบ.1 (บางละมุง) ด่านป่าไม้แหลมฉบังและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2 ตู้ เตรียมส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ศูนย์เอกซเรย์ฯ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องด้วยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราบ และศูนย์ประมวลข้อมูลการข่าวทางศุลกากร (CIC) ได้วิเคราะห์ข้อมูลและพบความเสี่ยงของการกระทำผิดกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ เข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้น สำแดง เป็น “เครื่องกลึง” (LATHES) จำนวน 4 SET น้ำหนักสุทธิ 56,000 กิโลกรัม ราคา 2.09 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบพบ เป็น“ไม้พะยูง” และ “ไม้ประดู่” ไม่มีดวงตราประทับไม้แต่อย่างใด รวมจำนวน 772 ท่อน น้ำหนักรวม 56,000 กิโลกรัม มูลค่า 4,600,484.02 บาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ไม้พะยูงจัดเป็นสินค้าต้องห้ามในการส่งออกไป นอกราชอาณาจักร และไม้ประดู่จัดเป็นสินค้าต้องกำกัดซึ่งในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากร ผู้ส่งออกไม่มีหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และถ่านไม้ เพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (รม.8)
มาแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงมีความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบกับมาตรา 252 และมาตรา 243 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ประกอบประกาศ
กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้ามให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้ เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2566 อันเป็นความผิดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 48 ประกอบกับมาตรา 73 และมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม