วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เผยโครงการสมหายใจเชิงดอย : การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการทำงานให้บริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะประชาชนของเครือข่ายเทศบาลลุ่มน้ำแม่กวง ด้วยโลยีดิจิทัลแฟตฟอร์ม การเตือนภัยที่มีจุดความร้อน ว่า ได้นำเสนอโครงการดังกล่าว ต่อนายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 พร้อมคณะ ที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานและรับฟังการนำเสนอระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับไฟป่า ที่ มทร.ล้านนา อ.ดอยสะเก็ด โดยมี ผศ.ธีระศักดิ์ สมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา หัวหน้าโครงการ เป็นผู้นำเสนอพร้อมหารือแนวทางการผลักดันสู่การบรรจุโครงการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับไฟป่าในขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท ) เพื่อขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐส่วนกลาง นำระบบดังกล่าว ไปติดตั้ง เซ็นเซอร์ให้พื้นที่ เพื่อแก้ปัญหา pm2.5 ของเชียงใหม่
“นายณัฐพล และคณะ ได้ให้ความสนใจโครงการดังกล่าว และพอใจประสิทธิภาพการทำงานของระบบที่ใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่หาง่าย ใช้โปรแกรมสั่งงานที่ไม่ซับซ้อน บำรุงรักษาหรือซ่อมแซมสะดวกซึ่งอุปกรณ์ที่เป็นระบบเซ็นเซอร์ ตรวจจับไฟป่า หรือจุดความร้อนในป่าโปร่ง รัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร ถ้าเป็นป่าทึบ รัศมีเพียง 200-300 เมตร เท่านั้น ซึ่งต้นทุนอุปกรณ์ดังกล่าวกล่องละ 300-400 บาท ถ้าพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์สามารถลดต้นทุนผลิต ไม่เกิน 100 บาท/กล่องได้” ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าว
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวอีกว่า อุปกรณ์หรือสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว มีเป้าหมายตอบโจทย์ อปท. และชุมชน ให้มีส่วนร่วมป้องกันไฟป่าลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สุขภาพ ท่องเที่ยวในชุมชน โดยใช้ระบบสัญญาณสื่อสารหรือไวไฟชุมชน ถ่ายทอดสัญญาณแจ้งเตือนไปหน่วยงานที่รับผิดชอบแบบเรียลไทม์ อาทิ ศูนย์บัญชาการดับไฟป่า อุทยาน ป่าไม้ ทหาร ท้องถิ่น และจิตอาสา เพื่อบูรณาการดับไฟป่า และสนับสนุนภารกิจดังกล่าวให้สำเร็จ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้นายณัฐพล และคณะ พร้อมสนับสนุนโครงการดังกล่าว เนื่องจากท้องถิ่น ชุมชนสถาบันการศึกษาในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชท้องถิ่น ที่สำคัญลดความเสียหายจากไฟป่า หมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งเป็นต้นแบบ หรือโมเดลการบรืหารจัดการไฟป่าแบบยั่งยืนแห่งแรกของประเทศด้วย