เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ที่หอประวัติ ศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดเสวนาวิชาการ “Creative Chiang Mai: Powering Tomorrow’s Entertainment” ครั้งแรก ภายใต้โครงการครีเอทีฟเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมความบันเทิงของเอเซียมีนายชัยณรงค์ นันตาสาย ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ต.ยุทธนา แก่นจันทร์ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ น.ส.สุทารัตน์ สุดเขต รองปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่ นายชูโบดีส ดัส ประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ และภาคีเครือข่าย พร้อมคณะปูซานเอนเตอร์เทนเมนท์ เกาหลีใต้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ก่อนทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือเอ็มโอยู กับหน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ

นายชูโบดีส ดัส กล่าวว่า กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ และภาคีเครือข่ายพร้อมส่งเสริมสนับสนุนเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมบันเทิงของเอเซีย ทั้งนวัตกรรมสร้าง สรรค์ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การขับเคลื่อนแบบบูรณาการของภาครัฐและเอกชน และการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อนำร่องหรือเป็นโมเดลอุตสาหกรรมบันเทิงในภูมิภาค เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น โดยเฉพาะท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ชุมชน
เบื้องต้น มีแผนจัดกิจกรรมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ หรือเฟสติวัลฟิล์ม ที่เชียงใหม่ครั้งแรก โดยนำเสนอภาพยนตร์จากไทย เกาหลีใต้ อินเดีย หรือบอลลีวู๊ด และเอเซีย กว่า 250 เรื่อง ซึ่งมีทุกรสชาด เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือตอบโจทย์ผู้ชมและผู้สนใจทุกกลุ่มเป้าหมาย ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ดังนั้นอยากให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ ตามนโยบายส่งเสริมเอนเตอร์เทนเมนท์หรือบันเทิง ของรัฐบาลในภูมิภาคด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะปูซานเอนเตอร์เมนท์ เกาหลีใต้ รวม 6 คน นำโดย Mr. kwang Su Park ประธานบริหารเจ้าหน้าที่ ปูซานอินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มเฟสติวัล ได้มาทำเอ็มโอยู ร่วมกับนายชูโบดีส ดัส พร้อมร่วมเสวนาดังกล่าวและพบปะหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่เป็นจังหวัดนำร่อง หรือโมเดลโครงการดังกล่าว ก่อนขยายไปทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีไปทั่วโลก 9,000 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ คณะดังกล่าวคาดหวัง ว่าในระยะสั้น ได้ร่วมจัดเฟสติวัลฟิล์มนานาชาติ ที่เชียงใหม่ ส่วนระยะยาว ได้ร่วมลงทุน และถ่ายทำภาพยนตร์ หรือโซเซียลมีเดียในไทย ทั้งสถานที่หรือโลเคชั่น เขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง ฉาก เพลงประกอบ และการจ้างงาน
ในพื้นที่ด้วย