มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ร่วมกับ พว. ยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย จัดการประกวด Best Practice ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดย ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า เป็นความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยี นวัตกรรมการเรียนการสอน รวมถึงองค์ความรู้ งานวิจัยที่จะนำมาใช้ในการพัฒนานักเรียนให้มีองค์ความรู้ที่จะนำไปต่อยอดได้ โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับมัธยมศึกษา ถึงระดับ อุดมศึกษา มีการผลิตครูเพื่อเป็นครูระดับต่าง ๆ รวมถึงทำงานด้านวิชาการ งานวิจัย การพัฒนาบุคลากรในการสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ดังนั้นการร่วมมือ กับ พว.จึงเป็นการส่งเสริมและแสดงศักยภาพของทั้ง 2 ฝ่ายในการร่วมกันพัฒนาสื่อ เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาครูให้มีความเข้มแข็ง มีองค์ความรู้ เทคนิคในการเรียนการสอนแบบ Active Learning ด้วย

“ดิฉันมั่นใจว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ผู้สอนสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ได้และทำให้ผู้สอนมีแผนการสอนที่ดี มีวิธีการที่ดี และคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้จะเกิดประสิทธิภาพในการจัดการสอน ซึ่งผู้สอนจะสามารถนำไปเขียนผลงานที่มีคุณค่าเพื่อนำเสนอเป็นผลงานวิชาการได้เพื่อเลื่อนวิทยฐานะได้ และในทางกลับกันหากไม่มีแผนการสอนที่ดีไม่มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ การเขียนผลงานก็ยากที่จะผ่านได้ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าด้วยกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนการสอนนี้จะนำไปสู่การพัฒนาผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้อย่างแน่นอน”อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรีกล่าว

ผศ.ดร.วาสนา สังข์พุ่ม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทย โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพครูผู้สอน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนระบบการศึกษา ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการพัฒนาการศึกษาระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา โดยเน้นย้ำการพัฒนาเชิงคุณภาพและนวัตกรรม ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทั้งสื่ออิเลคทรอนิกส์ หนังสือเสริมทักษะและสื่ออื่น ๆ ที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของการฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนทุกระดับชั้นโดยมุ่งหวังให้ครูก้าวขึ้นมาเป็นนวัตกรทางการศึกษา สามารถทำหน้าที่เป็นครูโค้ชและที่ปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ แต่ยังมุ่งหวังให้ครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับโลกในอนาคตด้วย

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้นที่ตรงกับปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ โดยมีโครงการ ยุทธศาสตร์ แนวคิด และหลักการตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของประเทศได้เป็นอย่างดีแลตรงเป้าหมาย ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของประเทศที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรีตระหนักและเห็นความสำคัญทางด้านการศึกษาของประเทศซึ่งตนขอชื่นชมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ที่มีวิสัยทัศน์และมาร่วมมือกับทาง พว.ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นสังคมฐานความรู้ที่แท้จริงในรูปแบบของการดำเนินงานเชิงรุก

ทั้งนี้ ภายหลังการลงนามความร่วมมือ ได้มีการมีการแถลงข่าวความร่วมมือจัดการประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา โดยแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หรือนำไปสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมาย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพนั้น ๆ และมีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจน มีการสรุปวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ที่ได้บันทึกเป็นเอกสาร และเผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอาจเกิดจากตัวบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีการวางแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนว Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps สำหรับใช้กับนักเรียนระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เนื่องมาจากในการทำงาน ทุกคนจะเกิดการเรียนรู้วิธีไปสู่เป้าหมายของหน่วยงาน ซึ่งผู้ปฏิบัติจะเรียนรู้ การแก้ปัญหาที่ดีได้จากการเสนอแนะของผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ หรือวิธีการที่ดีกว่าเดิม นอกจากกิจกรรมดังกล่าวจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อนักเรียน แล้ว ยังส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและตอบโจทย์การประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ซึ่งในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โรงเรียนและครูที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการต่อไป