คนรุ่นใหม่อาชีวะโชว์ไอเดีย! 71 ผลงานสิ่งประดิษฐ์เด่น ระดับกลุ่มจังหวัดเลย-หนองบัวลำภู-หนองคาย เฟ้นผลงานต่อยอดเชิงพาณิชย์ ส่งต่อชุมชน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2567 ระดับกลุ่มจังหวัด (เลย หนองบัวลำภู หนองคาย) โดยมีนายจิรายุทธ แก้วอาสา ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย กล่าววัตถุประสงค์การดำเนินงาน ร่วมด้วย ดร.ธนภัทร แสงจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการตัดสินผลงาน คณะกรรมการดำเนินงาน ครูที่ปรึกษา และนักเรียน นักศึกษา เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์ เข้าร่วม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย

ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี กล่าวว่า การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับกลุ่มจังหวัด (เลย หนองบัวลำภู หนองคาย) ครั้งนี้ จัดโดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดเลย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำความรู้ความสามารถมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ โดยมีผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดทั้งหมด 71 ผลงาน จาก 9 สถานศึกษา แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่

  1. สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรหรือเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (16 ผลงาน)
  2. สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ (8 ผลงาน)
  3. สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสิ่งแวดล้อม (8 ผลงาน)
  4. สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร (14 ผลงาน)
  5. สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HEALTH CARE) (5 ผลงาน)
  6. สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ (15 ผลงาน)
  7. สิ่งประดิษฐ์ประเภทกำหนดโจทย์ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นไทย (Thai Fashion) (5 ผลงาน)

“ถือเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ เป็นผลงานเชิงพาณิชย์ สร้างประโยชน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เป็นบันไดสู่ความสำเร็จในอนาคต เป็นนักนวัตกรอาชีวะในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้เข้าร่วมเพื่อเฟ้นหาระดับภาค หาสุดยอดไปต่อเวทีระดับชาติ ซึ่งเป็นเวทีเปิดที่มีบุคคลภายนอกเข้าให้การส่งเสริม สนับสนุน สู่การจดอนุสิทธิบัตร ต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และสู่ชุมชน สังคม ต่อไป“ ดร.นิรุตต์ กล่าว