วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567 นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมเกียรติบัตรให้แก่ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ 2567 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โดยมี นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวต้อนรับ นายปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร ผู้อำนวยการกองแผนงานและยุทธศาสตร์ สำนักงาน กปร. กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดาริของศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขาฯ
โครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริฯ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร โดยสำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและกระบวนการตามหลัก Plan Do Check Act : PDCA จัดทำเป็นคู่มือการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ทั้งนี้ มีศูนย์เรียนรู้ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว จำนวน 221 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ หลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ซึ่งในครั้งนี้มีศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และศูนย์สาขารับโล่พร้อมเกียรติบัตร ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน ผ่านการประเมิน จำนวน 43 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ 35 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ฯ ของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ฯ ของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 แห่ง และศูนย์เรียนรู้ฯ ของโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคี (ลุ่มน้ำลำพะยัง) 3 แห่ง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.สกลนคร จัดตั้งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2525 มีภารกิจหลักคือ การพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจ การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของป่า การปรับปรุงบำรุงดิน พัฒนาและส่งเสริมด้านปศุสัตว์ ด้านการประมง ด้านพืช และการส่งเสริมอาชีพ เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จภายใต้แนวคิด “สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิต ที่พอเพียง” ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีการศึกษา ทดลอง วิจัยและพัฒนาที่แล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 296 เรื่อง มีองค์ความรู้ที่โดดเด่น 26 เรื่อง โดยในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนผู้เข้าศึกษาดูงานกว่า 68,872 คน 767 คณะ มีการฝึกอบรมแบบ New Normal หรือออนไลน์ 12 กิจกรรม เป็นจำนวน 2,000 คน
โอกาสนี้ คณะฯ เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอกบ้านนาเลา ต.บึงทวน อ.เต่างอย โดยมี ณัฏกานต์ ดากาวงค์ บุตรสาวของดวงตา ดากาวงค์ ประธานกลุ่มให้การต้อนรับ โดยณัฏกานต์เปิดเผยว่าผลจากการเรียนรู้ด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้กลุ่มมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายผ่านร้านค้าของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เริ่มตั้งแต่สบู่สมุนไพร ข้าวสาร ข้าวฮาง ปลาร้าและขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือในรูปแบบต่าง ๆ จนปัจจุบันดวงตา ดากาวงค์ ได้รับโล่และเกียรติบัตรเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567
จากนั้น คณะฯ เยี่ยมบ้านนายทองจิตและนางบัญชี พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่บ้านบึงสา ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร แต่เดิมนายทองจิตและภรรยามีอาชีพทำนาและปลูกมะเขือเทศส่งโรงงานหลวงดอยคำในพื้นที่อำเภอเต่างอย ต่อมาเห็นเกษตรกรรายอื่นทำเกษตรผสมผสาน จึงไปเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จากนั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 จึงได้ปรับพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน มาปลูกกล้วยหอมทอง ถั่วฟักยาว บวบเหลี่ยม และยังคงปลูกมะเขือเทศ บางส่วน จำหน่ายให้แก่ร้านค้าในพื้นที่ มีรายได้วันละประมาณ 1,000 บาท และได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริบ้านบึงสา ทั้งนี้ นายทองจิต มีคุณสมบัติครบ 5 ดี คือ เป็นคนดี มีพันธุ์พืชดี มีพื้นที่ดี มีองค์ความรู้ดี และมีความยั่งยืน จึงได้รับโล่และเกียรติบัตรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567