วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร.และเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังวัดโต๊ะโม๊ะ หมู่ที่ 3 ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีถวายแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป จากนั้นเยี่ยมครอบครัว 4 ทหารเสือ พร้อมทั้งมอบสิ่งของพระราชทานให้แก่ครอบครัว 4 ทหารเสือด้วย
โดยเมื่อปี พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อทรงงาน โอกาสนั้น นายสวน อัตตะสาระ และนายกุหลาบ เพิ่มผล เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานความเป็นมาและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ หลังจากเสด็จฯ ไปยังพลับพลาที่ประทับหรือศาลาเสา 9 ต้น ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดโต๊ะโม๊ะ โดยมีนายบุญเหลือ เดชกุลรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยนายเปรม ปิ่นแก้ว รอเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชปรารภว่า “ข้าพเจ้าขอฝากแผ่นดินแห่งนี้ไว้ให้พวกท่านดูแลและรักษาไว้” และในปีเดียวกันก็เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมนายสวน อัตตะสาระ ที่บ้าน พร้อมทั้งรับสั่งว่า ต่อไปนี้ทั้งสี่คนนี้คือ สี่ทหารเสือ และนี่คือที่มาของคำว่า “ทหารเสือ” ซึ่งเป็นคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เข้ามาบุกเบิกการทำกินในพื้นที่นิคมสร้างตนเองสุคิริน และมุ่งมั่นในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในพื้นที่และเป็นตัวแทนคอยสอดส่องดูแลประชาชนที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่นี่
จากนั้น องคมนตรีและคณะเยี่ยมชมกิจกรรมของชุมชนนิคมสร้างตนเองสุคิริน ได้แก่ โครงการนาข้าวขั้นบันไดตามพระราชดำริ บ้านยาเด๊ะ และโครงการศิลปาชีพ กลุ่มทอผ้า โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริในนิคมฯ ณ บริเวณโครงการนาข้าวขั้นบันไดบ้านไอกาเปาะ หมู่ที่ 4 ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน และเสด็จฯ มาที่บริเวณลำธารไอร์ยาเด๊ะ หมู่ที่ 2 ตำบลมาโมง อำเภอสุคิริน มีพระราชดำริ “ให้กรมชลประทานพิจารณาตรวจสอบพื้นที่ และจัดสร้างฝายทดน้ำที่คลองยาเด๊ะ และให้นิคมฯ ร่วมกับกิ่งอำเภอสุคิรินตรวจสอบพื้นที่ที่สามารถทำนาได้ให้ประชุมชี้แจงราษฎร วางระเบียบหลักเกณฑ์จัดสรรที่นาและระบบการส่งน้ำให้ราษฎรเดิม หากมีพื้นที่ยังเหลือให้พิจารณาจัดแบ่งสรรให้สมาชิกนิคมใกล้เคียง เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านไอจือเราะ พื้นที่ประมาณ 600 ไร่ หรือหากขยายได้ถึง 1,000 ไร่ ก็ให้จัดทำและให้จัดแบ่งที่นาให้ราษฎรและสมาชิกนิคม ครัวเรือนละ 5 ไร่ ในรูปของสหกรณ์ ให้สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในความรับผิดชอบนิคมฯ ดำเนินการสนองแนวพระราชดำริตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่ โครงการนาข้าวขั้นบันไดตามพระราชดำริ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ โครงการหมู่บ้านศิลปาชีพนิคมฯ สุคิริน (บ้านเล็กในป่าใหญ่) โครงการธนาคารข้าวตามพระราชดำริ และโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามพระราชดำริ
ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังวัดประชุมชลธารา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งวัดประชุมชลธาราเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น โครงการเรียนรู้ภาษามลายูท้องถิ่น โครงการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โครงการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ โครงการจริยธรรมศึกษา โรงเรียนสอนปริยัติธรรม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาของจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันมีพระธรรมวัชรจริยาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส โอกาสนี้ องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานถวายแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป พร้อมทั้งพบปะผู้นำชุมชนไทยพุทธ และไทยมุสลิม และได้เชิญสิ่งของพระราชทานมอบให้แก่ผู้แทนชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม
ต่อจากนั้น องคมนตรีเยี่ยมชมผลผลิตของฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านโคกโก ฟาร์มตัวอย่างฯ โคกไร่ใหญ่ และกลุ่มทำนาโคกเป็ด ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ ทั้งด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างมั่นคง