องคมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ติดตามภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จากการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 2,047 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2567) และการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จากหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำจากผู้แทนกรมชลประทาน และการดำเนินโครงการโรงเรียนเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ โดยผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท จากนั้นเยี่ยมชมการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 237.50 เมตร สูง 16.50 เมตร มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 12.50 เมตร 16 ช่อง ทางระบายน้ำฉุกเฉิน กว้าง 10 เมตร ยาว 1,000 เมตร ประโยชน์ของโครงการส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างรวม 7.5 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าพลังสะอาดได้ 62.75 ล้านหน่วยต่อปี ระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำเสียและน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมและป้องกันอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา


เขื่อนเจ้าพระยาเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ศึกษาการควบคุมภาวะน้ำท่วมน้ำหลากในพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา และจัดการชลประทานสำหรับพื้นที่ทำการเกษตร ในปี พ.ศ.2445 คณะสำรวจของนาย เย โฮมัน วันเดอร์ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญการชลประทานชาวฮอลันดา อธิบดีกรมคลอง ได้เสนอให้มีการวางระบบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้มีปริมาณกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เรียกว่า “โครงการเจ้าพระยาใหญ่” โดยให้สร้างเขื่อนขวางลำน้ำเจ้าพระยาขึ้นที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท แต่ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงเร่งปรับปรุงประเทศในหลายด้าน ไม่มีงบประมาณพอที่จะทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ได้ จึงค่อย ๆ ทำทีละเล็กละน้อย จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีการนำโครงการเจ้าพระยาใหญ่ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง และเสนอโครงการต่อธนาคารโลกในปี พ.ศ.2492 ขอกู้เงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับในปี พ.ศ.2491 ได้เกิดการขาดแคลนอาหารไปทั่วโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงสนับสนุนโครงการเจ้าพระยาใหญ่ โดยธนาคารโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาความคุ้มค่าในการทำโครงการแล้วจึงอนุมัติ และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2495 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500

ความเป็นมาของโครงการโรงเรียนเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ ในปี พ.ศ.2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้กรมส่งเสริมการเกษตรใช้กระบวนการโครงการโรงเรียนเกษตรกรเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเกษตร และในปี พ.ศ.2542 กรมส่งเสริมการเกษตรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โครงการส่งเสริมและพัฒนาชีวินทรีย์และโรงเรียนเกษตรกรเป็นโครงการในพระราชดำริ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการในพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 ต่อมาจึงได้ใช้คำว่า “โครงการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริ” ซึ่งมีโครงการโรงเรียนเกษตรกรบ้านหลั่น หมู่ 4 ตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นโครงการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริแห่งแรก โดยเป็นโรงเรียนที่เน้นเรื่องการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เป็นหลัก และดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโดยการถ่ายทอดความรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Farmer Field School : FFS) ด้วยหลักการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated pest management : IPM) ภายใต้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเกษตร สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ความยาวประมาณ 22.5 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดคลองลัดเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจากอำเภอบางบาล-อำเภอบางไทร เพื่อลดผลกระทบน้ำหลากที่เกาะเมืองอยุธยา และน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุปโภคบริโภคได้จำนวน 15 ล้านลูกบาศก์เมตร