วันที่ 15 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักประชาสัมพันธ์ยุคใหม่สไตล์มัลติฟังก์ชัน” สังกัด สพฐ. ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะทำงาน รมว. ศธ. ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมฯ พร้อมด้วย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมพิธีเปิดพร้อมมอบโล่รางวัลให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดคลิปวิดีโอสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์กร รวม 8 รางวัล โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย นักประชาสัมพันธ์หรือผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 245 คน และคณะทำงานหลักด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ สพฐ. จำนวน 86 คน รวมทั้งสิ้น 331 คน
โอกาสนี้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวกับผู้เข้าอบรมว่า การทำงานของนักประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ทำงานหนักที่สุดกลุ่มหนึ่งในองค์กร เหตุผลที่บอกว่าทำงานหนักที่สุด ด้วยเพราะว่าหากผู้บังคับบัญชาไปไหน นักประชาสัมพันธ์ก็ต้องไปด้วย หรือหากนักประชาสัมพันธ์ไปไม่ได้ ก็ต้องคอยประสานงานกับคนที่ติดตามผู้บังคับบัญชาไป ว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจให้นำไปผลิตข่าวได้บ้าง และบางทีต้องทำงานทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เช้าจนดึก นี่คืองานของนักประชาสัมพันธ์ ซึ่งเราให้ความสำคัญและต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันทำหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์จำเป็นต้องปรับรูปแบบการสื่อสารให้ทันยุคสมัย โดยใช้พลังของโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วย นักประชาสัมพันธ์ต้องเป็นนักสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ใช่มุ่งแต่นำเสนอผู้บังคับบัญชาอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานนั้นๆ และอาจจะทำให้ผู้ติดตามลดลง ดังนั้น นักประชาสัมพันธ์จึงต้องมีเนื้อหารูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเป็นการนำเสนอให้ถึงครูและนักเรียน ให้ครูและนักเรียนได้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อของหน่วยงานหรือสื่ออื่นๆ จึงขอให้นักประชาสัมพันธ์ทำงานให้เต็มที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาของประเทศได้อย่างก้าวหน้าต่อไป
ด้านนายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นองค์กรหลักด้านการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง รวมกว่า 7 ล้านคน เราเห็นความสำคัญที่กลุ่มเป้าหมายต้องได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเข้าใจง่าย และในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมในงานประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย สพฐ. จึงได้กำหนดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักประชาสัมพันธ์ยุคใหม่สไตล์มัลติฟังก์ชัน” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมให้นักประชาสัมพันธ์และผู้ที่ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารความรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีทางการสื่อสารในปัจจุบันที่มีหลากหลายแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด หวังว่าผู้เข้าอบรมจะได้รับประโยชน์จากการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ และนำทักษะความรู้ที่ได้ไปพัฒนางานด้านประชาสัมพันธ์ในเขตพื้นที่ของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ขณะที่ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง กล่าวว่า การอบรมพัฒนานักประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อสารประชาสัมพันธ์ของทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และทุกสำนักของ สพฐ. ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานด้วยทักษะความสามารถที่หลากหลาย เช่น การเขียนข่าว การถ่ายภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การพัฒนาบุคลิกภาพ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายประชาสัมพันธ์
รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพงานการสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์กรให้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญเป็นการสร้างเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ระหว่างองค์กร พร้อมทั้งการติดตามและวิเคราะห์ประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้และเข้าใจเจตคติที่ดีต่อการพัฒนาการศึกษา ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างดียิ่ง
ทั้งนี้ ในการอบรมฯ ได้มีการประกวดคลิปวิดีโอสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์กร เพื่อให้นักประชาสัมพันธ์ได้แสดงทักษะฝีมือในการทำคลิปวิดีโอสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ โดยมีผู้ได้รับรางวัล รวม 8 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สพม.เลย-หนองบัวลำภู, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ สพป.กาญจนบุรี เขต 3, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ สพป.เชียงใหม่ เขต 3, รางวัล TOP VIEW ได้แก่ 1) สพป.นครศรีธรรมราช เขต2 2) สพป.แม่ฮ่องสอน เขต1 3) สพม.สุโขทัย และรางวัลชมเชย ได้แก่ 1) สพม.กำแพงเพชร และ 2) สพม.ตาก