สพป.สระบุรี เขต 1 จัดโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษา ด้วย Active Learning ผ่านกระบวนการ GPAS 5 Steps ที่เห็นผลจริง ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้

เมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ด้วยรูปรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลศาลาแดง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สระบุรี เขต 1 โดย ดร.วิภา สายรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สระบุรี เขต 1 กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มีส่วนสำคัญในการพัฒนานักเรียน ให้เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่วิธีการปฏิบัติทั้งในด้านการคิดและลงมือทำติดตัวผู้เรียนให้สามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ วิธีการทำงานที่นำสู่ผลที่ดี และนำสู่การพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพ ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียน ให้ครูเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนวัตกร นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยโรงเรียนในสังกัด สพป.สระบุรี เขต 1 ทั้ง 116 โรงเรียน ได้เข้าสู่การจัดการเรียนการสอนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องเรียนดี มีความสุข

“หลังจากที่โรงเรียนได้จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps พบว่า ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาการ โดยมีผลโอเน็ตในทุกกลุ่มสาระ มีหลายโรงเรียนที่เด็กสามารถทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็ม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ที่เราจะต้องเติมเต็ม ซึ่งเราจะไม่ทิ้งเด็กกลุ่มนี้ไว้ข้างหลัง โดยบางโรงเรียนก็ได้ใช้หลักการ Active Learning เข้าไปใช้ตามความถนัดของเด็ก ๆ ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งเสริมเด็กที่เก่งเท่านั้น แต่เราก็ไม่ลืมเด็กที่อาจจะขาดองค์ความรู้ที่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป จึงถือว่าการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นคำตอบที่ใช่ และสามารถพัฒนานักเรียนและครูได้อย่างแท้จริง”

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ทิศทางการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และ แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพราะ เป็นการตอบโจทย์โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และ พัฒนาพหุปัญญา ซึ่งก็คือความฉลาดที่ต่างกันของนักเรียนทุกคน โดยหลักการนี้เป็นหลักการสำคัญที่ทั่วโลกยึดถือและใช้อยู่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวล คือ โรงเรียนหลายแห่งคิดว่าให้เด็กได้คิด ได้ทำบ้างก็ถือว่า เป็น Active Learning แต่จริง ๆแล้ว Active Learning คือ บทบาทการเรียนรู้ของผู้เรียนเกือบ 100% โดยหัวใจของ Active Learning คือ ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ทุกมิติ ตั้งแต่การคิดวิเคราะห์ ความมีคุณธรรม ค่านิยม ทักษะและกระบวนการพัฒนาจนกระทั่งเกิดผลผลิตไปสู่นวัตกรรมได้ ซึ่งต้องใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ดังนั้น GPAS 5 Steps จึงเป็นกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่จะตกผลึกอยู่ในตัวเด็กแล้วเอาไปเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง ทุกมิติผ่านกระบวนการอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพราะฉะนั้น GPAS 5 Steps จึงสามารถกลั่นกรองข้อมูลไปเป็นองค์ความรู้แล้วทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้

“สำหรับประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งและสอดคล้องกับนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ที่เน้น Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps และ การวัดและประเมินผลด้วยมิติคุณภาพ หรือ ประเมินตามสภาพจริงที่เกิดจากการคิด การแสดงออกของผู้เรียนจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง รวมทั้งผลผลิตของผู้เรียนไม่ใช่เป็นการสอบเหมือนในอดีต เพราะฉะนั้นเมื่อทิศทางของประเทศตอนนี้เดินมาแบบนี้ถือว่า เป็นความโชคดีของเด็กไทยรุ่นใหม่ที่จะได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้ ได้รับการพัฒนาตามรูปแบบของการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ด้วยตัวเองจะมีผลผลิตของการเรียนรู้สู่ระดับนวัตกรรม ซึ่งจะตอบโจทย์แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่กำหนดว่า เด็กระดับ ป. 1 ถึง ป. 6 ต้องสามารถสร้างนวัตกรรมได้ และการสร้างนวัตกรรมนี้ไปยกระดับอาชีพของพ่อแม่ได้ด้วย ส่วนเด็กระดับมัธยมศึกษา นอกจากต่อยอดนวัตกรรมระดับประถมศึกษา ไปสู่นวัตกรรมขั้นสูงแล้ว ยังต้องสามารถพัฒนานวัตกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นภูมิภาคและประเทศได้ เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่กระทีวงศึกษาธิการวางไว้นี้ น่าจะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยได้อย่างแท้จริง” ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ คนไทยเรียนรู้เองไม่เป็น ที่เรียนรู้เองเป็นมีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้แบบทำตามคำสั่ง ทำตามแบบแผนที่วางไว้แล้ว แต่การคิดสร้างสรรค์แทบจะไม่มีเพราะฉะนั้นถ้า Active Learning สามารถพลิกโฉมประเทศไทยได้เด็กไทยก็จะคิดสร้างสรรค์ได้ตั้งแต่ระดับประถมฯและมัธยมฯและยิ่งไปถึงระดับมหาวิทยาลัยก็จะสามารถเข้าสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติและระดับโลกได้

กรรมการปฏิรูปประเทศฯ กล่าวอีกว่า ดังนั้นถ้าเด็กได้เรียนรู้แบบ Active Learning ได้อย่างถ่องแท้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตร เพราะ Active Learning เป็นการนำมาตรฐานหลักสูตรของหลายประเทศมาใช้ ซึ่งก่อนที่จะนำมาใช้ก็ได้มีการวิจัยมาแล้ว 15 ปี เมื่อเรานำมาตรฐานมาใช้ก็แสดงว่าคุณภาพของผู้เรียนก็จะทัดเทียมกับนานาประเทศในโลก แต่ปรากฏว่าเมื่อเราไปดูที่โรงเรียนจริง ๆ บางโรงก็ยังไม่เคยบรรลุแม้แต่มาตรฐานเดียว เพราะมาตรฐานเกิดจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เท่านั้น ผ่านการคิดการปฏิบัติเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเราเรียนด้วยกันนั่งฟัง นั่งท่อง นั่งจำแล้วก็สอบ แสดงว่าผู้สอนจำนวนมากยังไม่เข้าใจนิยามของมาตรฐาน ไม่เข้าใจนิยามของความรู้ เพราะความรู้ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนหลังจากที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการคิด การประเมินและการลงมือทำเองแล้ว เกิดความเข้าใจหลังคิด หลังประเมินและหลังทำด้วยตัวของเขาเอง ผลที่เขาเข้าใจนั้นนั่นคือความรู้ และความรู้นี้จะไปตอบโจทย์มาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งก็คือความสามารถในการแสดงออกของผู้เรียนในมิติของการคิด การตัดสินใจ และ การกระทำ การปฏิบัติจนนำไปสู่ผลผลิตในระดับนวัตกรรม แต่ที่ผ่านมาเด็กเป็นเพียงผู้ฟัง ดังนั้นถ้าสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้จะสามารถพลิกโฉมการศึกษาของประเทศใดแน่นอน เพียงแค่เราปรับเนื้อหาการเรียนรู้เท่านั้น

นางศรีนวน เมยขุนทด ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลศาลาแดง สพป.สระบุรี เขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยใช้ Active Learning ซึ่งคณะครูทุกคนจะทำแผนการสอนที่ใช้ Active Learning โดยกิจกรรมการเรียนการสอนในชั่วโมงครูก็จะฝึกให้เด็กรู้จักคิดเอง ทำเอง ปฏิบัติจริง ลงมือทำ ซึ่งเนื้อหาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีธรรมชาติของวิชาแตกต่างกันไป ซึ่งจากการจัดการเรียนการสอนได้ผ่านกระบวนการคิดส่งผลให้นักเรียนมีผลการทดสอบโอเน็ตโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ได้ 100 คะแนนเต็ม ส่วนวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ก็ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีต่อเนื่อง

“สำหรับการต่อยอดนวัตกรรมก็จะมี best practice ของโรงเรียน และของครูผู้สอน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนได้รับรางวัลต่าง ๆเช่น การประกวดกิจกรรมศิลปหัตถกรรมนักเรียน รางวัลโรงเรียนสุจริต รางวัลโรงเรียนคุณภาพ และรางวัลที่เกี่ยวกับสถานศึกษาปลอดภัย โดยกิจกรรมเหล่านี้นักเรียนก็จะมีส่วนร่วมโดยผ่านสภานักเรียน ซึ่งนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง นอกจากนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนดำเนินการก็ยังส่งผลให้นักเรียนมีทักษะชีวิตด้วย โดยโรงเรียนจะมีการจัดตลาดนัดคุณหนูทุกสิ้นเดือน ซึ่งเด็กจะมีการคิดวิเคราะห์กระบวนการ นำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาจำหน่ายในโรงเรียน” นางศรีนวน กล่าว

ด้านนางสาวสุพิชฌาย์ เลาหะพานิช ศึกษานิเทศก์ สพป.สระบุรี เขต 1 กล่าวว่า สพป.สระบุรี เขต 1 มีการจัดโครงการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ Active Learning ซึ่ง GPAS 5 Steps ก็เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งพบว่า กระบวนการ GPAS 5 Steps ใช้ได้ดีในหน่วยบูรณาการ โดยครูสามารถบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ในโรงเรียนแล้ว นำไปเขียนแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดผลกับนักเรียน ซึ่งเมื่อครูนำไปใช้แล้วพบว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้มีนวัตกรรมเกิดขึ้น เช่น ที่โรงเรียนอนุบาลเสาไห้ ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ GPAS 5 Steps ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป. 6 โดยได้บูรณาการการเรียนรู้ลุ่มน้ำป่าสักรักถิ่นไทยญวน นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนและวิถีชีวิตของชาวไทยญวน จนได้นวัตกรรม เช่น แผนที่การเดินไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นวัฒนธรรมไทยญวน ได้หนังสือเล่มเล็กเล่าเรื่องวัดสมุหประดิษฐาราม และได้นวัตกรรมเรื่องของการออกแบบลายผ้าซิ่นทอลายมุกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยญวน ได้เอกลักษณ์การแสดงนาฏศิลป์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยญวน เป็นต้น

“นอกจากนี้ยังนำ Active Learning ไปใช้กับเด็กพิเศษหรือเด็กบกพร่องทั้ง 9 ประเภท พบว่า เด็กกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ดีต้องผ่านกระบวนการ Active Learning ซึ่งคุณครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ คุณครูจะใช้การจัดการเรียนการสอนที่เป็น Active Learning สอนกระตุ้นให้เด็กคิดและเรียนรู้ โดยเฉพาะการอ่าน การเขียน ซึ่งเด็กจะให้ความสนใจ เมื่อครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ปรากฏว่าเด็กสามารถอ่าน ออกเขียนได้ ในระดับที่ดี” ศึกษานิเทศก์ สพป.สระบุรี เขต 1 กล่าว