เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่จุดอบรม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อ่างทอง โรงเรียนสตรีอ่างทอง และโรงเรียนวิเศษไชยชาญ (ตันติวิทยาภูมิ) โดยมีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 451 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ดร.ธีรศักดิ์ จำนงค์เนียร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ยะลา ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการ สพป.อ่างทอง ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า เชื่อว่าการเข้ามาขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนอย่างมาก เพราะจะทำให้ครูได้ความรู้จากวิทยากร ซึ่งครูก็จะนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้กับเด็กในห้องเรียน และสุดท้ายผลก็จะส่งถึงนักเรียนเต็ม ๆ เพราะจากการประเมินการเรียนการสอนด้วย Active Learning เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะยาก กลาง หรือ ง่าย ถ้าเด็กได้ลงมือทำปฏิบัติจริงก็จะเกิดความเข้าใจที่คงทนจนกระทั่งเกิดทักษะที่จะใช้ในการดำรงชีพในศตวรรษที่ 21 และต่อไปในอนาคต
“คนในวงการศึกษาจะรู้ดีว่า ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง โรงเรียนที่มีความพร้อมก็จะอุดมไปด้วยผู้เรียนที่แข่งขันกันเข้าไปเรียน แต่โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมจะไปโรงเรียนที่ผู้ปกครองอาจจะไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น จนกระทั่งปัญหาที่เกิดตามมา คือ การปิดตัวของโรงเรียน เพราะฉะนั้นโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ เป็นโครงการที่ดีที่จะพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่แต่ละอำเภอให้มีความพร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธา ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองในการส่งเสริมลูกหลานเข้ามาเรียน และสุดท้ายก็จะส่งผลถึงคุณภาพของเด็กในอนาคต” ดร.ธีรศักดิ์ กล่าว และว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าจะมีการต่อยอดโครงการนี้ เพราะโครงการนี้ช่วยสร้างความพร้อมให้ครูเกิดความกระตือรือร้น และสุดท้ายผลก็จะเกิดกับผู้เรียนในห้องเรียน
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่พบว่า คุณครูมีความตั้งใจมากขึ้นในการเข้ารับการอบรม เพราะเห็นภาพแล้วนึกออกว่า ที่เคยสอนมาในอดีตเป็นอย่างไรกับแนวทางที่จะพลิกโฉมการศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร และมองเห็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ไปจนถึงการสร้างผลผลิตและนวัตกรรมได้ ถือเป็นการตอบรับอย่างดีและเกิดกระแสที่โรงเรียนต้องการพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นหลักสูตรที่นำมาตรฐานมาจากสหรัฐอเมริกา และประเทศชั้นนำในยุโรป ซึ่งตอนที่นำมาตรฐานมาใช้ประเทศเหล่านั้นก็ได้มีการวิจัยก่อนนำมาใช้ 15 ปี เพราะฉะนั้นมาตรฐานของเขาจึงสูงมาก ทำให้มีการนำเสนอให้ครูเห็นว่ามาตรฐานเป็นการประเมินความสามารถโดยการแสดงออกของผู้เรียนในการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นการท่องจำแล้วสอบได้ ดังนั้นการที่ประเทศไทยกำลังพลิกโฉมการศึกษาแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นการมาถูกทางแล้ว
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า จริง ๆ หลักสูตรดีอยู่แล้ว เพราะหลักสูตร คือ แผนการจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ขณะที่ความรู้ คือ สิ่งที่เกิดกับผู้เรียนหลังจากที่ผู้เรียนได้คิดเอง ประเมินเอง และทำเอง แล้วมีความเข้าใจหลังที่เขาคิดและประเมินและลงมือทำ เพราะฉะนั้นความรู้จึงเกิดจากประสบการณ์ตามหลักสูตรที่กำหนด และในมาตรฐานเป้าหมายของหลักสูตร คือ เด็กต้องสามารถสร้างความรู้ได้ในระดับความคิดรวบยอดและระดับหลักการ ซึ่งความคิดรวบยอดเกิดจากกระบวนการ และความรู้ที่เด็กสร้างขึ้นทั้งสามมิติมาสรุปร่วมกันจนเกิดเป็นหลักการ แต่ที่ผ่านมาเราเอาเนื้อหามาอธิบายแล้วสอน ด้วยการขยายความและยกตัวอย่างให้เด็กดูหรือยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เด็กจำ แล้วทำการทดสอบซึ่งการสอนแบบนี้ไม่ใช่การเรียนการสอน แต่เป็นการถ่ายทอดข้อมูลจากครูไปสู่เด็ก จึงเป็นสิ่งที่ไม่แปลกเมื่อไปสัมภาษณ์เด็กที่สอบได้ลำดับที่ดี ๆ หลังจากสอบไปแล้วเด็กจะบอกว่าลืมหมดแล้ว เพราะสมองไม่ได้เรียนรู้แต่เป็นการจำซึ่งเป็นความจำระยะสั้นถือเป็นการสูญเปล่าของการศึกษา แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้จนเกิดเป็นความจำระยะยาวจะต้องผ่านกระบวนการคิด ประเมินและปฏิบัติ สมองส่วนนี้ถึงจะทำงานเส้นใยประสาทถึงจะถักทอเชื่อมโยงเป็นวงจรและบันทึกกลายเป็นความจำระยะยาวติดตัวเด็กตลอดไป
“คิดว่า เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะโครงการอบรมครั้งนี้ ที่มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาดำเนินการ เพราะเป้าหมายตามหลักสูตรกำหนดมาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่โรงเรียนยังมาไม่ถึง เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เด็กพึงได้รับ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เด็กจะได้รับการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามที่มาตรฐานหลักสูตรกำหนดให้เด็กมีความสามารถในการแสดงออกอย่างแท้จริง มีความสามารถในการคิด การประเมินการลงมือ ปฏิบัติสร้างผลผลิตชิ้นงานไปจนถึงสร้างนวัตกรรมที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน ในท้องถิ่นได้ ที่สำคัญคือความรู้ที่เป็นกระบวนการซึ่งเป็นความรู้ที่รู้จากเนื้อหาและจะติดตัวผู้เรียนเอาไปใช้เรียนรู้ต่อเนื่องได้ทุกระดับจนจบมหาวิทยาลัย และไปประกอบอาชีพทำงานได้ตลอดชีวิต สามารถยกระดับชีวิตของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นได้ เพราะกระบวนการที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาวางไว้ เป็นกระบวนการที่เป็นแก่นแท้ของหลักสูตรที่แท้จริง เป็นองค์ความรู้ที่ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต” ดร.ศักดิ์สินืกล่าว
ดร.ดวงพร แสงทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาร่วมกับ สพฐ.จัดอบรมครูต้นแบบในพื้นที่ภาคกลางจังหวัดต่าง ๆ ถือว่าได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เพราะครูที่เข้ารับการอบรมจะได้รับเครื่องมือช่วยสอน กระบวนการคิดของครูเปลี่ยน และกระบวนการสอนก็เปลี่ยนสามารถนำกลับไปใช้สอนในห้องเรียนและใช้กับเด็กได้โดยตรง เพราะฉะนั้นกระบวนการของการอบรมที่จัดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน และผลลัพธ์ก็เกิดกับผู้เรียนที่จะสามารถไปต่อยอดสร้างเป็นชิ้นงานได้
“ขอขอบคุณ สพฐ.ที่ให้ความไว้วางใจให้มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาเป็นเครือข่ายหลักในการจัดอบรม ถ้าเป็นไปได้อยากให้ขยายผลไปในภาคอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามตอนนี้เป็นระยะที่ 2 ของการอบรม คือ การลงมาอบรมในพื้นที่ ซึ่งต่อจากนี้ก็จะเป็นระยะที่ 3 คือ การลงไปประเมินว่า ครูที่เข้ารับการอบรมมาแล้วจะสามารถนำความรู้ไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ผู้เรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างไร โดยครูเหล่านี้ก็จะพัฒนามาเป็นครูต้นแบบของ สพฐ.ต่อไปด้วย” ดร.ดวงพร กล่าว
นายมงคล บกสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีอ่างทอง กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ ที่ครูจะได้เข้าใจในแก่นแท้ของแอคทีฟ Active Learning เพราะที่ผ่านมากระบวนการที่ครูจัดการเรียนรู้เป็นการจัดการเรียนรู้แบบเดิม ๆ เป็นส่วนใหญ่ วันนี้ครูได้รับความรู้จากวิทยากรก็จะสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะเปลี่ยนการศึกษาของนักเรียน จากเดิมที่เป็นในรูปแบบของการให้ความรู้จากครูแต่กระบวนการ Active Learning จะเป็นกระบวนการที่นักเรียน ได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์เพื่อหาสิ่งที่เป็นองค์ความรู้และสามารถนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์และทำออกมาเป็นซอฟพาวเวอร์ที่มีคุณค่าต่อวงการศึกษา
“จริงๆครูได้มีการใช้กระบวนการ Active Learning มานานแล้วเพียงแต่อาจจะยังไม่เข้าใจแก่นแท้ของกระบวนการเพราะฉะนั้นในมุมมองของผมมองว่า หลักสูตรแกนกลางก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะครูยังไม่เข้าใจกระบวนการที่ชัดเจนทุกคน ถ้าไม่มีหลักสูตรแกนกลางเป็นหลักให้ครูจัดการเรียนรู้อาจจะหลงทางกันได้ แต่ถ้าครูเข้าใจกระบวนการและแก่นของหลักการแล้วหลักสูตรสถานศึกษาที่ให้ครูคิดเองจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งและจะนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้มองว่าการใช้กระบวนการ Active Learning เป็นการเดินถูกทางแล้ว เพราะเดิมครูจะเป็นคนอธิบายบอกแล้วให้นักเรียนทำ แต่เมื่อโรงเรียนได้เข้าโครงการอบรมให้ความรู้ Active Learning ครูก็ได้เปลี่ยนวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนเป็นรูปแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ค้นพบความสำเร็จ และสามารถอธิบายหรือบอกกระบวนการที่นำไปสู่ความสำเร็จได้แล้วคิดต่อยอดได้” นายมงคล กล่าว
น.ส.ธัญญาเรศ พงษ์ธนู ครูโรงเรียนแสวงหาวิทยาคม กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ถือว่าตอบโจทย์ได้มาก เพราะจะสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้ เช่น ครูจะได้ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมการสอน หรือ ได้เทคนิคที่จะไปใช้ในการเรียนการสอน หรือสร้างเกมที่ไปกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น
นายพีรชัช อัคติ ครูอัตราจ้าง โรงเรียนป่าโมกข์วิทยาภูมิ กล่าวว่า การอบรมทำให้ครูมีเทคนิคในการสอนมากขึ้นจากที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเด็ก ๆ จะบอกว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ แต่ครูก็ได้นำเทคโนโลยีและเกมมาใช้สอน ทำให้เด็กไม่เบื่อและสนุกกับการเรียนมากขึ้น การจัดอบรมครั้งนี้สามารถปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนของครูได้มาก อยากให้มีการขยายผลโครงการออกไปให้มากขึ้น เพราะครูจะได้รับการพัฒนาตัวเองพัฒนาวิชาชีพและได้เทคนิคในการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้น
รศ.ดร.กรัณย์พล วิวรรณมงคล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ฐานะวิทยากร กล่าวว่า การจัดอบรมเป็นการกระตุ้นให้ครูได้มีความรู้เข้าใจในการจัดกิจกรรมตามรูปแบบ Active Learning และกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนมากขึ้น รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ครูสามารถสร้างต้นแบบของการเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม และเป็นนวัตกรในชั้นเรียน เท่าที่สังเกตจากการไปเป็นวิทยากรในหลาย ๆ จุด พบว่า ครูให้ความสนใจและพยายามทำความเข้าใจบทบาทของตัวเองมากขึ้น รวมถึงเข้าใจว่าจะต้องสร้างกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงและเท่าทันยุคสมัย ซึ่งครูให้ความร่วมมือในการอบรมเป็นอย่างดี เพราะจากเดิมที่ครูเข้าใจว่า เป็นการเพิ่มภาระแต่เมื่ออบรมแล้วก็ความคิดก็เปลี่ยนและเข้าใจว่าเป็นการเสริมสมรรถนะที่จะสามารถนำไปใช้ในวิชาชีพได้
ดร.นุชนารถ ยิ้มจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิเศษไชยชาญ “ตันติวิทยาภูมิ” กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมฟังการอบรม คาดหวังว่าครูจะสามารถปฏิรูปที่ห้องเรียนตัวเองได้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครูในการจัดการเรียนการสอน เพราะจริง ๆ เราได้ยินคำว่า Active Learning มานานแล้วแต่ครูยังไม่มีความเข้าใจ มาวันนี้คิดว่าครูสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจะสามารถสร้างกระบวนการเรียนการสอนด้วยตัวของตัวเองเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน บริบทของนักเรียนและท้องถิ่น ที่สำคัญวิธีการที่วิทยากรนำเสนอทำให้ครูมีความสุขในการเรียนกับวิทยากรและจะสามารถนำแนวทางของวิทยากรไปถ่ายทอดสู่ห้องเรียนได้ ที่สำคัญครูจะมีความเข้าใจแล้วว่าจะต้องเป็นผู้สร้างนวัตกร โดยให้นักเรียนร่วมออกแบบการเรียนการสอนกับครู และสามารถวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงระบบได้ เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถหาความรู้จากโลกโซเชียลได้ แต่ไม่สามารถสร้างความรู้เชิงระบบหรือกลั่นกรองได้ แต่ GPAS 5 Steps สามารถทำให้นักเรียนจัดลำดับความคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติและสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นนวัตกรได้