องคมนตรีติดตามขยายผลต่อยอดโครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดบึงกาฬ

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังเทศบาลตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เพื่อติดตามการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบึงโขงหลง

โอกาสนี้ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. กล่าวรายงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จากนั้นผู้แทนกรมชลประทาน รายงานสรุปสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ การดำเนินโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงและการพัฒนาอาชีพประชาชนบ้านดอนกลาง ตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกันนี้ องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานและการสนองพระราชดำริในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เกิดประโยชน์และเกิดความยั่งยืนต่อไป

จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ พร้อมกับปล่อยพันธุ์ปลา และพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรกลุ่มผู้ใช้น้ำ โอกาสนี้ มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานให้แก่ราษฎรเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2520 ในการพิจารณาวางโครงการพัฒนาบึงโขงหลงเพื่อนำน้ำจากบึงโขงหลงไปพัฒนาการเกษตร ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี 2523 สามารถส่งน้ำช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ตำบลบึงโขงหลง จำนวน 1,200 ไร่

โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงและพัฒนาอาชีพประชาชนบ้านดอนกลาง (โครงการต่อยอด) อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ คือ 1 ใน 18 โครงการต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจากสภาพปัญหาโครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงฯ ถนนบนทำนบดินเกิดการกัดเซาะ เนื่องจากใช้งานเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับมีขนาดเล็ก ส่งผลให้การสัญจรของประชาชนไม่ได้รับความสะดวก โดยในช่วงฤดูน้ำหลากก็ไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้และเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง รวมทั้งระบบส่งน้ำเดิมไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำของเกษตรกร และการอุปโภคบริโภคในบริเวณพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำจากการขยายตัวของชุมชน

สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยวางแนวทางการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต้นน้ำ จัดทำแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนงานยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนอนุรักษ์ฟื้นฟูและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จัดทำโครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง และจัดทำโครงการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง

กลางน้ำ กำหนดแผนการพัฒนาโครงสร้างของโครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงฯ ระบบการกระจายน้ำ และคลองส่งน้ำ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 165 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,237 คน 2,011 ครัวเรือน

ปลายน้ำ กำหนดแผนการพัฒนาแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นและเกิดความยั่งยืนต่อไป