นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ยอดการรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ในปีการศึกษา 2567 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 381,606 คน คิดเป็นสัดส่วน ผู้ที่เรียนต่อ ม.4 กับ ปวช.ปี 1 ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาปกติ จาก 63.76 : 36.24 เพิ่มเป็น 61.87 : 38.63 เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2566 มีผู้เข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 210,489 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 165,847 คน และระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต จำนวน 5,270 คน ซึ่งจากการรายงานพบบว่านักเรียน นักศึกษา ที่ตัดสินใจเลือกเรียนอาชีวศึกษาเพราะอยากเรียนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคต เลือกตามความชอบและความถนัดของตนเอง และเชื่อว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะหางานทำได้ง่าย โดยได้รับข้อมูลการเรียนต่อจากครูแนะแนวเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือสื่อโซเชียลมีเดีย การประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ และการบอกต่อของเพื่อน รุ่นพี่ รวมถึงได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.
ซึ่ง สอศ. ยังจัดการเรียนการสอน ในกลุ่มผู้เรียนขยายโอกาส มีจำนวนทั้งสิ้น 371,185 คน ได้แก่ การเรียนระยะสั้น ห้องเรียนอาชีพ และเรียนในโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางพระดาบส ซึ่งเป็นความสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการขยายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและเข้าถึงการศึกษา
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินตามนโยบาย เรียนดีมีความสุข ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และมุ่งมั่นในการพัฒนาการจัดการศึกษาในทุกมิติ สร้างให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นคนดี คนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะสมรรถนะ ทั้ง Soft Skills / Hard Skills และ Technical Skills เป็นที่ต้องการและตอบโจทย์ของตลาดแรงงานในทุกระดับของประเทศ ตลอดจนขยายโอกาสทางการศึกษา และเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาของอาชีวศึกษาเป็นสำคัญ อาชีวะอยากให้เด็กได้เรียนทุกคน เรียนในสิ่งที่เลือกและสิ่งที่ชอบ และนำข้อห่วงใยของ รมว.ศธ. ในการดูแลนักเรียน นักศึกษาไม่ให้หลุดออกนอกระบบระหว่างเรียน ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการในการติดตามเพื่อดูแลนักเรียน นักศึกษา จัดระบบการจัดเก็บข้อมูลนักเรียน นักศึกษา หรือหากพบปัญหาเรื่องเอกสารหลักฐานหรือใบวุฒิการศึกษา (ปพ.1) จากที่โรงเรียนเดิม ทางวิทยาลัยก็จะดำเนินการเจรจาให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเพื่อให้เข้าสู่ระบบการศึกษาอาชีวศึกษาและไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก นอกจากนี้ยังลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน และจัดครูแนะแนวอาชีวะ เพื่อส่งเสริมและสร้างเป้าหมายชีวิตให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งการเรียนสายอาชีวศึกษานั้นเป็นการศึกษาที่มีความพร้อม เมื่อจบแล้วมีงานทำ โดยจัดการเรียนการสอนใน 12 ประเภทวิชา และจำนวนสาขาวิชาที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในปัจจุบันกว่า 140 สาขาวิชา ซึ่งมีหลักสูตรที่มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง เช่น สาขาปิโตรเคมี พาณิชย์นาวี ช่างอากาศยาน เทคนิคผลิตชิ้นส่วนยายนต์ เทคโนโลยีอาหารปลอดภัย ธุรกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสาขาสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม New Growth Engine ของประเทศใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve
สอศ. ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษา และเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ส่งเสริมผู้เรียนได้เรียนรู้จริง ปฏิบัติจริง และมีความพร้อมเพื่อป้อนกำลังคนคุณภาพให้กับภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป