“ทีปอุทัย” นำทีมนักวิจัยแถลงแก้ไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ โชว์ผลงานที่สถาบัน MIT สหรัฐรับรอง หวังสร้างงานวิจัยที่เป็นโมเดล นำไปใช้ได้จริง

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่สตาร์บัคกาดฝรั่ง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ นายทีปอุทัย แสนกาศ ผู้อำนวยการสถาบันไฟป่าและหมอกควันแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะนายกสมาคมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แถลงข่าวงานวิจัยไฟป่าหมอกควัน และการบริหารจัดการไฟป่าพื้นที่เชียงใหม่ และใกล้เคียง ว่าได้ก่อตั้งสถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2564 และเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว เพื่อศึกษางานวิจัยไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5  ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานงานวิจัยและข้อเท็จจริงเป็นหลัก เพื่อใช้อ้างอิงทางวิชาการ เป็นแนวทางปฏิบัติและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

ทั้งนี้ได้ศึกษาวิจัยหัวข้อไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ โดยผ่านการรับรองจากสถาบัน MIT สหรัฐอเมริกา ที่ได้ให้คะแนนงานวิจัย 100 % ซึ่งเป็นจดเริ่มต้นสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อนำงานวิจัยดังกล่าว มาแก้ปัญหาในประเทศ และหมอกควันข้ามแดน หรือข้ามชาติ ที่เกิดปัญหา ตั้งแต่ปี 2548 หรือกว่า20 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งมีปฏิญาณความร่วมมือ หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในปี 2557 หรือกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ตามลำดับ แต่พันธสัญญาดังกล่าว ไม่ได้กำหนดให้ใช้กฏหมายบังคับ เพื่อแก้ปัญหาระหว่างประเทศอย่างใด

นายทีปอุทัย กล่าวอีกว่า งานวิจัยไฟป่าหมอกควัน ต้องศึกษาเป็นพื้นที่ไปเพราะปัญหาและบริบทพื้นที่แตกต่างกัน แต่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสุขภาพ ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ที่เหมือนกัน โดยเฉพาะความขัดแย้ง ทางการเมือง ที่ช่วงชิงผลงานทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดังนั้นการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด เข้าสู่การพิจารณาของสภาจึงเป็นทางเลือกการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานงานวิจัยมากนัก

“ประเด็นการนำเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด อาจแก้ได้บางส่วน ดังนั้นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน มีภาคีเครือข่ายทุกระดับรณรงค์สร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ผู้นำชุมชน ประชาชน นักท่องเที่ยว พร้อมตรวจสอบการใช้มาตรการต่าง ๆ มีความก้าวหน้าหรือประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพื่อถอดบทเรียน หรือสร้างต้นแบบ (โมเดล) นำร่อง โดยผ่านการศึกษาวิจัยเชิงวิชาการ ที่เก็บข้อมูล และลงลึกในรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อเป็นบรรทัดฐานการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และแก้ปํญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายทีปอุทัย กล่าว

นายทีปอุทัย กล่าวอีกว่า ปัญหาหมอกควันข้ามแดน รัฐบาลต้องมีกรอบความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมให้บรรษัทข้ามชาติ ที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ ข้าวโพด อ้อย ให้หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน หรือเกษตรอินทรีย์แทน เพื่อลดการเผาป่าและวัชพืชทางการเกษตร หรือฮอตสปอต ภายใต้การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ที่สำคัญให้ภาคเอกชนหรือบรรษัทข้ามชาติ มีส่วนร่วมรณรงค์ป้องกันไฟป่าหมอกควัน ภายใต้ความร่วมมือ และกิจกรรม CSR เพื่อสังคมและงานวิจัยของภาครัฐ เอกชนด้วย

“ปัญหางานวิจัยของสถาบัน คือ ขาดผู้สนับสนุน หริองบประมาณ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากร หรือทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยไปข้างหน้า หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าสามารถสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศทุกด้านสามารถเติบโตอย่างแข็งแรง และมั่นคงในอนาคต ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากบริษัทดัชมิลล์ จำกัดเพียงรายเดียว ที่สนับสนุนงานวิจัยของสถาบัน ” นายทีปอุทัย กล่าว

ด้าน ดร.ฐานรินทร์ หาญเกียรติวงศ์อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รัตนโกสินทร์ กล่าวว่า แผนการวิจัยของสถาบันฯ คือศึกษาสาเหตุ ผลกระทบ แนวทางแก้ปัญหา และนำงานวิจัยไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ ซึ่งตั้งเป้าพื้นที่ศึกษางานวิจัยที่ดอยสุเทพ อ.เมือง อ.สะเมิง  อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน และ อ.เวียงป่าเป้าจ.เชียงราย เนื่องจากปัญหาและบริบทแตกต่างกัน บางพื้นที่เผาป่าเพื่อหาของป่า และล่าสัตว์ อาทิ เห็ดถอบผักหวาน ไข่มดแดง รังผึ้ง หรือบางแห่งมีนักท่องเที่ยวทิ้งบุหรี่ข้างทางจนเกิดไฟป่าลุกลามได้ ดังนั้นต้องมีป้ายเตือนทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน

หรือป้ายแสดงสัญญาลักษณ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อป้องกันความสับสนและสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ดับไฟป่าแก่ท้องถิ่น และชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงที่สำคัญ ต้องสร้างโอกาส และอาชีพแก่ชุมชนที่อยู่กับป่า มีรายได้เพียงพอดูแลครอบครัว เพื่อทดแทนการเผา เพื่อหาของป่าเลี้ยงชีพดังกล่าว

“เงินและเทคโนโลยี ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะเทคโนโลยีแก้ที่ปลายเหตุ ดังนั้นต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ มนุษย์ หรือชาวบ้าน เป็นอันดับแรก พร้อมสร้างจิตสำนึกมีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และภาคเอกชนที่ทำโครงการ CSR และมีงานวิจัยรองรับทำโครงการดังกล่าว เพื่อวางรากฐานแก้ปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีก 10-20 ปี ข้างหน้าด้วย”