วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 นางอรอนันต์ วุฒิเสน ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมด้วยนายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ จำนวน 22 คน ที่เข้าร่วมโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ประจำปี 2567 เยี่ยมชมการขยายผลการดำเนินงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ (อพ.สธ.) ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นวันที่สอง ประกอบด้วย โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การเติมเชื้อเห็ดป่าในกล้าไม้วงศ์ยาง เพื่อลดการพึ่งพิงป่า เพิ่มแหล่งอาหาร สร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชน
จากนั้น คณะลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมการขยายผลจากงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศูนย์เรียนรู้ด้านป่าไม้บ้านนายทรงสิทธิ์ หาญมนตรี บ้านหนองดินดำ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร โดยนายทรงสิทธิ์ หาญมนตรี อายุ 45 ปี เกษตรกรขยายผลจากงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของบ้านโนนสูง ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้มีการฟื้นฟูและบริหารจัดการพื้นที่ป่าหัวไร่ปลายนาที่มีความแห้งแล้ง เสื่อมโทรม ไม่อุดมสมบูรณ์ ถูกทิ้งร้างให้กลับมาพลิกฟื้นเป็นป่าและดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมต่อการเพาะปลูกต้นไม้ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริ การปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไม้ 5 ระดับ ทำให้มีป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีน้ำสำหรับใช้ในแปลงเพาะปลูกตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด “ป่า สร้างน้ำ สร้างอาชีพ”
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้แนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ด้านป่าไม้มาปรับใช้ในการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีความหลากหลายและสมบูรณ์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มาปลูก ประกอบด้วย ไม้กินได้ ไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจหรือไม้สร้างบ้าน ปลูกแซมด้วยไผ่เพื่อเก็บหน่อมาบริโภคและจำหน่าย ส่วนลำไผ่ตัดขายมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ปลูกผักหวานป่าแซมระหว่างไม้ยืนต้นแบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สามารถเก็บยอดผักหวานป่าขายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังขายต้นผักหวานป่าแบบขุดล้อมได้ราคาถึงต้นละ 2,500-3,000 บาท และผักหวานป่าเป็นรายได้หลักในปัจจุบัน ส่วนกิ่งไม้ทุกชนิดในพื้นที่ภายหลังตัดแต่งกิ่งออกจะนำมาเผาถ่าน และผลิตน้ำส้มควันไม้ นอกจากนี้ได้นำความรู้การเพาะเชื้อเห็ดป่าในกล้าไม้วงศ์ยางมาเพาะต้นกล้าไม้แล้วปลูกในพื้นที่ ทำให้เกิดเห็ดหลากหลายชนิดเป็นจำนวนมาก โดยจะเก็บได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ในแต่ละปีขายได้กว่า 10,000 บาท
ช่วงบ่าย คณะได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยมีนายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของโครงการห้วยทรายขมิ้นฯ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานขยายผลสู่ราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ณ แปลงเกษตรนายเรืองวิทย์ โพธ์ศรี บ้านห้วยทราย ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นสร้างขึ้นเมื่อปี 2496 แล้วเสร็จในปี 2499 เดิมมีความจุ 2.4 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 บริเวณพื้นที่ จังหวัดสกลนคร ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” และในช่วงวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2560 ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เซินกา” โดยในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ทำให้มีน้ำปริมาณมาก (ประมาณ 3.750 ล้าน ลบ.ม.) เอ่อล้นข้ามทำนบ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสำนักงาน กปร.เร่งรีบดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ “ห้วยทรายขมิ้น” ที่ประสบปัญหาอุทกภัยชำรุดเสียหาย ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้ถือว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ พร้อมตรวจระบบอ่าง, สันเขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป
จากพระราชดำริดังกล่าว สำนักงาน กปร.และกรมชลประทานได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ทำนบดินอ่างเก็บน้ำใหม่กว้าง 9 ม. สูง 11 ม. ยาว 1,165 เมตร อาคารท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย ขนาด 1.00 เมตร จำนวน 115 เมตร อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อส่งน้ำฝั่งขวาพร้อมท่อระบายลงลำน้ำเดิมขนาด 1.20 เมตร จำนวน 95 เมตร ทำให้ราษฎรบ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 บ้านพังขว้างเหนือ หมู่ที่ 2 ตำบลพังขว้าง และบ้านขมิ้น หมู่ที่ 2 บ้านพาน หมู่ที่ 8 ตำบลขมิ้น อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวม 1,223 ครัวเรือน 4,584 คน มีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตร สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น และใช้สำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ โดยส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูแล้ง 1,000 ไร่ และฤดูฝน 3,000 ไร่ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาอุทกภัย สร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
ต่อมาคณะเยี่ยมชมแปลงเกษตรต้นแบบกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ของนายเรืองวิทย์ โพธิ์ศรี หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นชำรุด ภายหลังจากได้รับการเยียวยาจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และเข้าไปศึกษาดูงานเพื่อการประกอบอาชีพที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้นำความรู้มาพลิกฟื้นที่ดินทำกินที่ได้รับความเสียหาย โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ พร้อมได้รับปัจจัยการผลิตจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เพื่อเป็นการเริ่มต้นในการประกอบอาชีพบนพื้นที่ 5 ไร่ 30 ตารางวา ในรูปแบบเกษตรผสมผสาน มีการปลูกไม้ผล อาทิ กล้วย มะละกอ ฝรั่ง พืชผักสวนครัว อาทิ ถั่วฝักยาว ฟักทอง พริก มะเขือ เลี้ยงเป็ด ไก่ และเลี้ยงปลา ทั้งปลานิล ปลาตะเพียน ปลาบึก และปลาดุก นอกจากนี้ยังเพาะเห็ดขายอีกด้วย ปัจจุบันมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพในหลายด้าน นับตั้งแต่การฉีดวัคซีนไก่ การผลิตอาหารไก่และปลาจากวัสดุที่มีในแปลงปลูกแบบครบวงจร ทำให้มีรายได้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องทั้งแบบรายวัน รายเดือน และรายปี ทำให้ชีวิตมีความมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎรอย่างหาที่สุดมิได้