ส.ว.ก๊อง ปัดฝุ่นฟื้นสวนรถไฟ สมัย”ทักษิณ”  เป็นสวนใหญ่ที่สุด หลังรกร้างนับ 10 ปี ประสานปลัด มท.ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกแบบปรับภูมิทัศน์ถนนเลียบทางรถไฟเชียงใหม่-ลำพูน แล้ว

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายพิชัยเลิศพงษ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่สวนสาธารณะตรงข้ามสถานีรถไฟเชียงใหม่ เพื่อนำเครื่องจักรกล ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ดังกล่าว รวม 62 ไร่ ตามหนังสือขอความอนุเคราะห์จากสถานีรถไฟเชียงใหม่ เจ้าของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการทำความสะอาด ไถกลบ กำจัดวัชพืช เก็บขยะบดอัดเศษใบไม้และกิ่งไม้ เพื่อนำไปกำจัดและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งป้องกันเกิดไฟป่าลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ลดหมอกควัน  ฝุ่น PM 2.5และลดมลภาวะในเขตเมือง มีนายสมชาติ วัฒนากล้า รองนายก อบจ.เชียงใหม่ นายชาตรี เชื้อมโนชาญที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่พร้อมผู้บริหาร สมาชิกสภา อบจ.กลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่ ร่วมลงพื้นที่ โดยมีชุมชนแขวงกาวิละ มาร่วมต้อนรับและให้กำลังใจนายพิชัย และคณะด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า สวนสาธารณะรถไฟเชียงใหม่ ริเริ่มสร้างในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล ก่อนมอบให้เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นผู้ดูแลจนกระทั่งหมดสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขอพื้นที่ดังกล่าวคืน แต่ไม่มีผู้ดูแล ทำให้สวนดังกล่าวรกร้าง และเสื่อมโทรมมากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งที่มีการลงทุนสร้างสวนดังกล่าว กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งการปรับภูมิทัศน์ดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการ 1 สัปดาห์แล้วเสร็จ

“อบจ. มีแผนทำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู กับการรถไฟ เพื่อให้การรถไฟยกพื้นที่ดังกล่าวให้อบจ.ดูแลทั้งหมด เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ เป็นปอดกลางใจเมืองและฟื้นฟูเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใช้ออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพและเป็นสถานที่นันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย”
นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ยังกล่าวถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนเลียบทางรถไฟเชียงใหม่-ลำพูน ว่า แขวงการทางลำพูน ได้มีหนังสือถึง อบจ.เชียงใหม่ปรับภูมิทัศน์ถนนสายดังกล่าวสองฝั่ง แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก แยกเหมืองง่า ลำพูน ถึง อ.สารภี ระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 แยกมหิดล ถึง มงฟอร์ต ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร รวมกว่า 11 กิโลเมตรซึ่งการรถไฟ ไม่ขัดข้องให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างใด

ทั้งนี้ได้ประสานนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการกรมโยธาธิการและผังเมือง สำรวจออกแบบ และใช้งบปรับปรุงถนนดังกล่าว ซึ่งการออกแบบแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยมีไฟฟ้าส่องสว่างกลางคืน และสัญญาณจราจรเพื่อความปลอดภัยผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว สองชุมขนที่อยู่สองฝั่งถนนได้ขอให้มีทางลอดบริเวณสถานีรถไฟ ที่เชื่อมต่อกับถนนมหิดล เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ ที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชนด้วย