“ภครัช” วอนรัฐส่งเสริมบทบาทสตรีไทยทัดเทียมสากล ก้าวสู่เวทีโลก “มยุรา” รับสตรีดีเด่นการเมือง ขอบ คุณ “ส.ว.ก๊อง” สร้างโอกาสสตรี ให้เป็นผู้นำชุมชน-ท้องถิ่น

วันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานวันสตรีสากล เพื่อส่งเสริมความทัดเทียม เสมอภาค สิทธิสตรี และสร้างโอกาสการพัฒนาชีวิตตนเองและครอบครัว มีนางณิชพลัฏฐ์ วรรณคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ นางภครัช  ชัยชนะ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี จ.เชียงใหม่ นางวิทยาลักษณ์ สามใจ ประธานสภา อบจ.เชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการพัฒนาสตรี 25 อำเภอ เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

ทั้งนี้นายวรวิทย์ ได้มอบเกียรติบัตรแก่สตรีดีเด่นพัฒนาชุมชน 33 รายและสตรีดีเด่นพัฒนาสังคม 17 รายคณะกรรมการสตรีอำเภอ  50 รายส่วนนางณิชพลัฏฐ์ ได้มอบช่อดอกไม้แก่สตรีดีเด่นด้านการเมืองและการปกครอง จำนวน 12 ราย อาทิ นางวิทยาลักษณ์ นางมยุรา ตุ่นแก้ว ส.อบจ. อ.สันทราย เขต 3  น.ส.พรฤดี พุทธิศรี สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงนครพิงค์ น.ส.โสรัตยา บัวชุม กำนัน ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด ตามลำดับ

นางภครัช  กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลและประกาศนียบัตรสตรีดีเด่นทุกสาขา ซึ่งสตรีมีบทบาทสำคัญพัฒนาชุมชนและสังคม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตตนเอง และครอบครัวให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพสตรีให้มีความทัดเทียมและเสมอภาคในสังคม โดยเฉพาะด้านกฎหมาย บทบาทสตรี พัฒนาอาชีพ และส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว ดังนั้นอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อยกระดับศักยภาพสตรีไทยให้ความทัดเทียมในระดับสากล หรือนานาชาติ เพื่อเข้าสู่เวทีโลก ที่สำคัญต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มบทบาทพัฒนาสตรีทั่วประเทศ ให้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปข้างหน้าด้วยกัน

ด้านนางมยุรา กล่าวในฐานะตัวแทนสตรีดีเด่นด้านการเมืองและการปกครอง ว่า ขอบคุณที่ได้รับรางวัลดังกล่าว และเปิดโอกาสให้สตรีที่ทำงานด้านการเมืองท้องถิ่น ได้แสดงศักยภาพทำงานดูแลรับใช้ประชาชน ที่สำคัญขอบคุณนายพิชัย เลิศพงศ์ อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายก อบจ.เชียงใหม่ ที่ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทสตรี ทั้งงบประมาณด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ฝึกอบรมอาชีพ เรียนรู้ เทคโนโลยี การสร้างโอกาสให้เป็นผู้นำชุมชนและท้องถิ่น ทัศนศึกษาดูงาน เพื่อเรียนรู้โลกกว้าง และทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ให้เป็นผู้หญิงยุคใหม่ แต่คงอัตลักษณ์วิถีชีวิตล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสตรี มีบทบาทสำคัญดูแลครอบครัวเป็นหลัก จึงขอยกย่องสตรีที่ได้เสียสละ ทำประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมด้วยดีตลอดมาด้วย