วันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่เทศบาลเมือง(ทม.) แม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานเปิดงาน “MOI Waste Bank Week – มหาดไทยปักธงประกาศความสำเร็จ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ธนาคารขยะ”เพื่อส่งเสริมองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จัดระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ มีนางทิพรวี รัตนรังสรรค์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ นายณัชฐเดช มุมาลี นายอำเภอสันทราย นายประหยัด ทรงคำ นายก ทม. แม่โจ้ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชุมชน ทม.แม่โจ้ เข้าร่วม 19 แห่ง ซึ่งมีคณะศึกษาดูงานจากอปท. จ.อุตรดิตถ์ ร่วมกืจกรรมด้วย
ภายในงานมีการออกบู้ทแสดงผลงาน ภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย ภายใต้หลักการ 3R คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลและจำหน่าย เพื่อให้มีรายได้กลับคืนสู่ชุมขน ของ 19 ชุมชน อาทิ การซื้อขายขยะรีไซเคิล การดัดแปลงขยะรีไซเคิล เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ เครื่องหนัง ของใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์ทำการเกษตร ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ เพื่อลดการเผา หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5
นายชัชวาลย์ กล่าวว่า จังหวัดได้คัดเลือก ทม.แม่โจ้ เป็นต้นแบบ หรือโมเดลการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม หรือธนาคารขยะ เพื่อนำรองขยายผลไปสู่ อปท. 211 แห่ง พร้อมดำเนินการอยู่ 2 เรื่อง คือ แก้ปัญหาขยะ โดยมีศูนย์กำจัดที่โซนเหนือ อ.ฝาง โซนกลาง อ.ดอยสะเก็ด โซนใต้เร อ.ฮอด ถ้าไม่ดำเนินการภายใน 5 ปี อาจเกิดปัญหาขยะล้นเมืองได้ เรื่องที่ 2 แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาเริ้อรังมากว่า 2 ทศวรรษหรือ 20 ปีแล้ว โดยตั้งเป้าลด PM 2.5 ให้มากที่สุด
นายประหยัด กล่าวว่า ทม.แม่โจ้ มีประชากร 20,000 คน ประชากรแฝงอีก 40,000 คน รวมกว่า 60,000 คน จึงมีโครงการบริหารและกำจัดขยะแบบครบวงจร ซึ่งปี 64 มีค่ากำจัดขยะ 15 ล้านบาท ปี 65 ค่ากำจัด 10 ล้านบาท ปี 66 ค่ากำจัดไม่ถึง 10 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าค่ากำจัดขยะให้ลดลงอีก
“มีนโยบายและแผนกำจัดขยะ 5 แนวทาง คือ 1. ทำขยะเปียกลดโลกร้อนแบบครบวงจร 2. ทำถนนสวย บ้านสวน 1 ชุมชน 1 สาย 3.ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 และปักธงสี เป็นสัญญาณเตือนระดับความรุนแรง 4. ทำปุ๋ยหมักใบไม้ แบบไม่พลิกกลับกอง หรือปุ๋ยชีวภาพแบบธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี จำนวน 1,000 ครัวเรือน 5. ทำผลิตภัณฑ์ชุมชนจากขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผ่านมา ได้รับซื้อขยะคัดแยกจากชุมชนกว่า 400,000 บาทแล้ว” นายประหยัด กล่าว
ต่อมานายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการหมวกควัน PM 2.5 ของ ทม.แม่โจ้ และฟังบรรยายสรุปจากนายประหยัด ก่อนร่วมเสวนาในงานดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถอดบทเรียนเรื่องดังกล่าว เพื่อขยายผลไปสู่ อปท.และชุมชนเมือง ภายใต้ศักยภาพท้องถิ่นแต่ละแห่งด้วย