วันที่ 30 กันยายน 2567 นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก- แม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตงจ.เชียงใหม่ เผยการระบายน้ำส่วนเกินลงสู่น้ำแม่งัด ก่อนไหลลงสู่น้ำปิง ว่า เมื่อเวลา 07.00 น. ได้เปิดประตูระบายน้ำ 2 บาน บริเวณสันเขื่อน เพื่อระบายน้ำออก 110 ลบ.ม./วินาที แต่เกรงว่าน้ำอาจล้นน้ำแม่งัด จึงปรับแผนปล่อยน้ำเหลือ 90 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระดับน้ำไม่ให้เอ่อล้น ไปท่วมพิ้นที่การเกษตรที่อยู่ใกล้เคียง และไม่ให้มีผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ คาดใช้เวลาระบาย 37 ชั่วโมง จากเดิมที่คาดใช้เวลากว่า 33 ชั่วโมง
“การระบายน้ำดังกล่าว ในรอบ 13 ปี ซึ่งเขื่อนเคยระบายน้ำมา 3 ครั้งในปี 37, 48 และปี 54 ปีนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยปี 48 ระบายน้ำ 28 ก.ย. ถึง 6 ต.ค. ระดับน้ำสูง 59 เซนติเมตร อัตราน้ำไหล 123.7 ลบ.ม./วินาที ส่วนปี 54 ระบายน้ำ 29 ก.ย. ถึง 5 ต.ค. ระดับน้ำสูง 86 เซนติเมตร อัตราน้ำไหล 217 ลบ.ม./วินาทีปีนี้ ได้ระบายน้ำเพียง 90 ลบ.ม./วินาที ถิอว่าน้อยกว่าทุกครั้ง” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
นายจรัส ไชยยา อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเมืองแกนพัฒนา อ.แม่แตง ในฐานะคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย-จีน และอาเซียน สภาผู้แทนราษฎรเผยว่า ได้มาตรวจการระบายน้ำที่เขื่อนแม่งัดแล้ว หลังยื่นหนังสือกับ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง นายกรัฐมนตรี ที่มาตรวจน่ำท่วมที่เชียงใหม่ และสั่งการเรื่องดังกล่าวพบว่า เขื่อนได้เปิดประตูระบายน้ำแล้ว ทำให้ระดับน้ำที่ล้นสปริงเวย์ด้านข้างเขื่อนลดลงจาก 30 เซนติเมตร เหลือ 10 เซนติเมตร ซึ่งต้องระบายน้ำส่วนเกิน 13% หรือกว่า 290 ล.ลบ.ม. ของความจุเขื่อน 265 ล.ลบ.ม. ออกไป 30 ล.ลบ.ม.เพื่อให้เหลือน้ำที่กักเก็บไว้ 265 ล.ลบ.ม. หรือ 100 % เท่าเดิม ทำให้ไม่ส่งผลกระทบประชาชนกว่า 30,000 คน ใน 4 ตำบล คือ ต.ช่อแล ต.อินทขิล ต.บ้านเป้า ต.แม่หอพระ อย่างใด
ทั้งนี้เขื่อนยืนยันการระบายน้ำดังกล่าวใช้เวลา 37 ชั่วโมง ถ้ามีมรสุมลูกใหม่พัดผ่าน สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น และทะยอยระยายน้ำออกภายหลัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจแก่ชาวบ้านที่อยู่ท้ายเขื่อน 4 ตำบลอยากให้สบายใจได้ ว่าเขื่อนมีความมั่นคง แข็งแรงและปลอดภัย ซึ่งต้องขอบคุณชลประทาน ที่ได้ดำเนินการตามนโยบายและคำสั่งนายกรัฐมนตรีด้วย