กรมชลประทาน จัดเวทีฟังความเห็นครั้งที่ 1 โครงการประตูระบายน้ำกั้นกลางแม่น้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร และจังหวัดบึงกาฬ วางแผนเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ห้องประชุมอำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร มอบหมายให้ นายปัณณวิทญ์ กุลตังคะวณิชย์ นายอำเภอคำตากล้า เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการศึกษาเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำกลางแม่น้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร มีนายฉัตรดำรงค์ หงส์บุญมี หัวหน้าฝ่ายวางโครงการที่ 1 ส่วนวางโครงการที่ 2 พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนกำนันผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน และประชาชนเข้าร่วมงาน กว่า 300 คน ภายในงานมีการรับชมวิดีทัศน์โครงการ ซึ่งนำเสนอรายละเอียดข้อมูลโครงการ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ รวมถึงการสรุปประเด็นจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ เพื่อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมและผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงครามไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งของทุกปี รวมทั้งแม่น้ำสงครามในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดบึงกาฬ มีสภาพภูมิประเทศไม่สามารถพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำได้ ในปี 2560 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผประสบอุทกภัยครั้งใหญ่โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสงคราม วันที่ 2 ส.ค.2560 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลงพื้นที่และมีข้อสั่งการให้กรมชลประทาน (ซึ่งต่อมาได้ถ่ายโอนงบประมาณมาดำเนินการที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแก่งชาติ) ดำเนินการศึกษาเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำสงครามให้เห็นผลระยะยาว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำกลางแม่น้ำสงคราม (ประตูระบายน้ำบ้านดอนแดง) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเป็นการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ จึงมีข้อสรุปเสนอให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการนำผลการศึกษาความเหมาะสมดังกล่าวไปดำเนินการ

โดยจากผลการคัดเลือกแผนงานโครงการอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำสงคราม พื้นที่กลางแม่น้ำพบว่า โครงการประตูระบายน้ำบ้านดอนแดง เป็นโครงการที่มีศักยภาพในลำดับต้น จึงได้นำโครงการดังกล่าวไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยกรมชลประทาน สำนักบริหารโครงการ ส่วนวางโครงการที่ 2 ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ศุกฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด บริษัท ออโรส จำกัด และ บริษัท เอสเอส คอนซัลแทนท์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว มีนายวิวรรธน์ เจริญรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการ นางสาวนันทพร วิเศษสมบัติ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม และดร.ยุพา ชิคทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยา คณะวิทยากรที่ปรึกษาโครงการได้ร่วมนำเสนอและรับฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะอย่างกว้างขวางเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประโยชนสูงสุด

โครงการประตูระบายน้ำบ้านดอนแดง มีที่ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 4 บ้านดอนแดง ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร พิกัด1969811 เหนือ และ 386284 ตะวันออก(WG81984 UTM Zone 48N) กั้นแม่น้ำสงครามตอนล่าง บริเวณเหนือจุดบรรจบของแม่น้ำสงครามกับห้วยฮี้ ประมาณ 18.30 กิโลเมตรเป็นการก่อสร้างประตูระบายมีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมระดับน้ำโดยบานประตูระบายเหล็กโค้ง ประตูระบายน้ำ 2 ชั้น มีขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 8 ม. จำนวน 6 บาน อัตราการระบายน้ำสูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที สามารถกักเก็บน้ำได้ 73.71 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะกักเก็บน้ำในลำน้ำสงคราม 145 กม. สถานีสูบน้ำ เครื่องสูบขนาด 10 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง (สำรอง1เครื่อง) อัตราสูบน้ำรวม 30 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ ยังมีทางผ่านปลาชนิด Pool Type Vertical Slot ความกว้าง 3 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของประตูระบายน้ำ พร้อมประตูเรือสัญจรแบบแห้งชนิดเครนยกข้าม โดยมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการประกอบด้วย การพัฒนาระบบชลประทานเป็นระบบสูบน้ำด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 14 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งโครงการทั้งหมด 350,000 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 189,000 ไร่(ฤดูฝน 189,000 ไร่ ฤดูแล้ง 85,697 ไร่) ราษฎรได้ประโยชน์ 16 ตำบล 5 อำเภอ 2 จังหวัด ประกอบด้วย ตำบลคำตากล้า ตำบลหนองบัวสิม ตำบลนาแต้ อำเภอคำตากล้า ตำบลดงหม้อทอง ตำบลโนนสะอาด ตำบลดงเหนือ อำเภอบ้านม่วง ตำบลท่าก้อน ตำบลนาฮี อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร, ตำบลซาง ตำบลท่ากกแดง ตำบลหนองทุ่ม ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา ตำบลดอนหญ้านาง ตำบลวังชมภู ตำบลศรีชมภู ตำบลหนองหัวช้าง จังหวัดบึงกาฬ เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนงานโครงการประตูระบายน้ำบ้านดอนแดง จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับทำการเกษตร การอุปโภค-บริโภค การประมง ปศุสัตว์ รักษาระบบนิเวศ สนับสนุนประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะการแข่งขันเรือยาวและกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ด้านนายผิวพรรณ พวงเงิน กำนันตำบลหนองบัวสิม กล่าวว่า อยู่ตรงนี้มา 20 กว่าปี เรื่องการศึกษาผลกระทบนับตั้งแต่เริ่มโครงการผมจะรู้เรื่องทั้งหมด การศึกษาผลกระทบแต่มันช้าไปอยากเห็นโครงการเกิดขึ้นเร็ว ส่วนใหญ่มีคณะสว.ที่ลงมาดูงาน กรรมาธิการน้ำสภาผู้แทนราษฎรก็มาดูลงานหลายคณะ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดูแล้วก็เงียบ สิ่งที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือพี่น้องประชาชน ถ้ามีน้ำทุกอย่างตามมาไม่ว่าจะอาหาร ปลา ต่างๆ ถึงฤดูน้ำหลากกระทบพื้นที่เกษตร แต่ในยามหน้าแล้งลำน้ำสงครามไม่มีน้ำเลย เนื่องจากท้องถิ่นมีงบประมาณน้อยส่วนใหญ่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ต้องฝากถึงรัฐบาลช่วยพัฒนาแหล่งน้ำ การศึกษาผลกระทบต่างๆเป็นเรื่องดี ไม่อยากให้ศึกษากันนานเกิน ผมเกิดอยู่ลำน้ำสงคราม 57 ปี ถ้ามีงบประมาณมาสร้างเลย ผลประโยชน์ชาวบ้านจะได้รับ ถ้ามีน้ำก็จะมีชีวิตเกิดขึ้น เป็นผักปลาการเกษตรการประมง ศึกษาผลกระทบแล้วจึงได้มาสร้างที่บ้านดอนแดง เพราะที่ผ่านมาไม่มีประตูเปิดปิดน้ำเข้า-ออก ฤดูแล้งจะได้มีน้ำเก็บไว้ใช้ได้ ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นก็จะมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง

ด้านนายปราการชัย ประชาชนในพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบโครงการ กล่าวว่า ที่ตั้งของโครงการอยู่ด้านหลังบ้านของผมเอง โดยหลักการเห็นด้วยเรื่องของโครงการนี้เป็นผลดีมากกว่าและก็เจตนาโครงการประตูระบายน้ำก็คือผันน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร แต่อยากจะแสดงความคิดเห็นในส่วนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบแทนพี่น้องชาวบ้าน ปัญหาคือที่นาติดกับแม่น้ำสงครามสิ่งที่พี่น้องชาวบ้านเสียสละไปไม่ใช่ค่าเวรคืนที่ดินอย่างเดียวเขาก็ไม่พอใจ หมายถึงที่นาอยู่ตรงนั้นแต่ได้ค่าเวรคืนให้ไปซื้อที่ดินที่อื่นซึ่งมันไกลจากพื้นที่เดิมที่เขาอยู่ บางคนมีที่ดิน 4 ไร่ โดนเวนคืนไป 2 ไร่ อยากให้พิจารณาการเวนคืนให้เหมาะสม ในชุมชนของบ้านดอนแดง จะได้รับประโยชน์ใดบ้าง เราอยากเห็นว่าทางโครงการได้ให้อะไรกับชุมชนบ้างอย่างเช่นเขื่อนริมตลิ่งจากโครงการไปถึงวัดสมสนุกบ้านดอนแดงซึ่งไม่ไกลมากประมาณ 300 เมตร และอย่างเห็นทางโครงการอนุรักษ์ต้นไม้ธรรมชาติ ให้มีที่อยู่ที่ศึกษาระบบนิเวศน์ ทางชุมชนจะมีประเพณีแข่งเรือหน้าบริเวณวัดถ้ามีเขื่อนกั้นริมตลิ่งจะเป็นสถานที่จัดกิจกรรมได้จุดสถานที่ออกกำลังกาย เที่ยวพักผ่อน เป็นการนำรายได้สู่ชุมชนได้

นายนพปฎล ผู้แทนจาก สทนช.ภาค 3 กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะฝากที่ปรึกษาเมื่อทำโครงการแล้วเสร็จ ผลประโยชน์ที่จะกระจายไปสู่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะริมฝั่งแม่น้ำ ทำอย่างไรที่จะส่งน้ำกระจายไปสู่ชุมชนอื่นให้ทั่วถึงมากที่สุดอันนี้เป็นประเด็นฝากเอาไว้ ประเด็นที่สถานีสูบน้ำสร้างไว้จะไม่ติดภาระการดูแลนะครับเป็นเรื่องที่ดีที่กรมชลประทานดูแลอย่างดี ความห่วงใยด้านอื่นๆเช่น ทางผ่านปลาที่จะกลับมาจากแม่น้ำโขงที่เราทำโครงการไปแล้วจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ไหม อยากจะฝากทุกท่านว่าทางส่วนราชการพยายามจะผลักดันให้บ้านเมืองเจริญขึ้น แต่เราก็ดูทางระบบนิเวศน์เรื่องของปลา เรื่องของชุมชน จึงฝากคณะที่ปรึกษาด้วยครับ

นายวิวรรธน์ เจริญรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการ กล่าวถึงโครงการ สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำกลางแม่น้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปี 2560 ทางพื้นที่ภาคอีสานเราประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นได้มีข้อสั่งการ ให้ทางกรมชลประทาน ซึ่งต่อมาถ่ายโอนส่งภารกิจสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปทำการศึกษาเพื่อพิจารณาจะสามารถจะพิจารณาโครงการใดบ้างเพื่อที่จะมาช่วยบรรเทาภัยแล้งน้ำท่วมให้ได้ระยะยาวซึ่งต่อมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติก็ได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2563 และมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆก็สรุปว่าการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านดอนแดง ก็เป็นโครงการที่เหมาะสมและเร่งด่วนนำมาพัฒนาโครงการ

นางสาวนันทพร วิเศษสมบัติ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 หรือเรียกว่าปฐมนิเทศโครงการซึ่งกลุ่มเป้าหมายเรากำหนดไว้ทั้งหมด 7 กลุ่ม ตามแนวทางสำนักงานนโยบายและแผน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีผู้ได้รับผลกระทบหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการผู้ทำหน้าที่พิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม องค์กรเอกชนด้านการกระทบสิ่งแวดล้อม(NGO) สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจในโครงการซึ่งการประชุมในวันนี้ เราก็ได้รับข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะการออกแบบเกี่ยวกับโครงการต่างๆรวมทั้งข้อกังวลด้านกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางทีมงานของเราจะนำข้อมูลที่ได้จากที่ประชุมทั้งหมดไปประกอบการศึกษาและจัดทำมาตรการมานำเสนอให้ประชาชนทราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วจะมีการประชุมกลุ่มย่อยต้องเข้าไปในชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อไปรับฟังให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง นำมาประกอบแนวทางแก้ไขแนวทางกำหนดมาตรการกระทบสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนคลายความกังวลได้ในอนาคตมากยิ่งขึ้น

ดร.ยุพา ชิคทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยา กล่าวทิ้งท้ายว่า เพิ่มเติมในส่วนผู้จัดการโครงการได้กล่าวไป การทำงานครั้งนี้เป็นการศึกษาของกรมชลประทาน ซึ่งเราจะมาทบทวนลักษณะโครงการที่ตั้งประตูระบายน้ำ ที่สำคัญคือที่ผ่านปลา และที่ผ่านเรือที่ชาวบ้านเขาร้องขอ ในโครงการเราต้องมี2สิ่งนี้ เพราะว่าวิถีชีวิตชาวบ้านต้องใช้ตามวิถีทางเรือ เรื่องของปลาต้องอบยพจากแม่น้ำโขง รวมถึงเราจะต้องมีการทบทวนการส่งน้ำ ทางผู้ร่วมประชุมได้นำเสนอมาเป็นข้อมูลที่ดี ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ว่าโครงสร้างทางบันไดปลาที่ได้มีการทำแล้วที่น้ำกล่ำปลาตัวใหญ่ขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งเราก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าทำไมว่ายขึ้นมาไม่ได้อาจจะเป็นความชัน ขนาดหรือบ่อพักที่เล็กเกินไปสำหรับให้ปลาตัวใหญ่ขึ้นมาเพราะฉะนั้นเราก็มีการเก็บข้อมูลออกแบบทำให้เหมาะสมกับชนิดปลา ซึ่งจากข้อมูลที่ทางเราได้รวบรวมได้ที่อำเภอคำตากล้า มีการจับปลาบึกได้แสดงว่าเป็นปลาตัวใหญ่ที่ว่ายมาถึงที่นี่ก็จะเป็นข้อมูลในการออกแบบต่อไป

ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล//บึงกาฬ รายงาน