สอศ. ปั้น 96 รองผู้อำนวยการอาชีวะรุ่นใหม่ ถ่ายทอดวิชาเด็ด ทักษะแน่น พลิกโฉมอาชีวะไทย

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (รองเลขาธิการ กอศ.) เป็นประธานพิธีเปิดและบรรยายพิเศษโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ณ ห้องสักราชพฤกษ์ 4 โรงแรมภูสักธาร อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก
 
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นการพัฒนาให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกซึ่งขึ้นบัญชีตามประกาศ อ.ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 96 คน เข้ารับการพัฒนาได้เพิ่มพูนความรู้  ทักษะ เจตคติที่ดี  คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพที่เหมาะสม เป็นผู้มีอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ บุคลิกภาพ  ความเป็นผู้นำ ผู้ใต้บังคับบัญชาและมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา  ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความก้าวหน้าแก่ราชการ

“ขอให้ผู้เข้ารับการพัฒนาทุกท่านใช้เวลาที่มาอยู่ร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ มากที่สุด เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง และบริหารสถานศึกษาให้มีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและประเทศชาติต่อไป”

สำหรับการพัฒนาครั้งนี้ สอศ. ร่วมกับสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มี วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรพี่เลี้ยง มาให้ความรู้ในมิติต่างๆ โดยได้จัดทำหลักสูตรและกำหนดให้มีการพัฒนาสมรรถนะของรองผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 136 ชั่วโมง คือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การฝึกประสบการณ์ในสถานศึกษา 70 ชั่วโมง การศึกษาดูงาน 8 ชั่วโมง การพัฒนาสมรรถนะให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 50 ชั่วโมง ประกอบด้วย 3 สมรรถนะหลัก ได้แก่ สมรรถนะหลักที่ 1 การดำรงตนของรองผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษายุคใหม่ สมรรถนะหลักที่ 2 ภาวะผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพอาชีวศึกษา สมรรถนะหลักที่ 3 การบริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา และการรายงานสรุปและนำเสนอผลงาน 8 ชั่วโมง โดยมีอดีตผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสม มีความรู้ ประสบการณ์ และประสบความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษา มาทำหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยง ชี้แนะให้คำปรึกษา และเติมเต็มประสบการณ์แก่ผู้เข้ารับการพัฒนา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตลอดทั้งกิจกรรม รวมทั้งหมด 10 คน และมีผู้บริหารสถานศึกษาในปัจจุบัน จำนวน 8 คน รวม 18 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 14 กันยายน 2567 ณ ห้องสักราชพฤกษ์ 4 โรงแรมภูสักธาร อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก