อบจ.เชียงใหม่ MOU ม.ปทุมธานี-มช. แก้ฝุ่น PM 2.5 ด้วยพลังงานสะอาด เป็นจังหวัดต้นแบบลดคาร์บอนเครดิต-ก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2050

วันที่ 9 กันยายน 2567 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายก อบจ. พร้อมนายสมชาติ วัฒนากล้า รองนายก อบจ. ได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงใน จ.เชียงใหม่ โดยใช้พลังงาน สะอาด ระหว่าง อบจ. กับ ดร.ชนากานต์ ยืนยง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยปทุมธานี และ รศ. ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่ง MOU ดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การลดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยลดการใช้น้ำมัน เชื้อเพลิง และใช้พลังงานทดแทน เพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณะของ อบจ. โดยใช้ พลังงานสะอาด มีผู้บริหาร อปท.สมาชิกสภา 211 แห่ง เข้าร่วมงานดังกล่าว พร้อมนำยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานสะอาด มาแสดงในงานดังกล่าวท่ามกลางความสนใจผู้ร่วมงานจำนวนมาก

นายพิชัย กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล ได้กำหนดให้มีการลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วน ราชการ การสร้างต้นแบบของการใช้พลังงานทางเลือกการส่งเสริมสนับสนุน อปท.  ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ด้านการลดค่าใช้จ่ายน้ำมัน การพิจารณาจัดหารถ พลังงานไฟฟ้า (EV) มาใช้ทดแทนรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า สาธารณะแบบ Fast Charge ในงานบริการสาธารณะของ อปท.ที่เหมาะสม เพื่อเตรียมความ พร้อมด้านระบบไฟฟ้า ในพื้นที่การบูรณาการความร่วมมือของสถาบันการศึกษา อปท. และภาคเอกชน นำไปสู่การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างคุณภาพงานบริการที่ตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการของภาคประชาชน ในการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน

ประกอบกับนโยบาย ที่สำคัญจากนโยบาย 10 ประการ โดยขอให้ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell และ Solar Rooftop ในสถานที่ราชการ และใช้กับไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะยาว พร้อมจัดทำแผน ปฏิบัติการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Road Map) เพื่อเป็นแผนในการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกมุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ

ต่อมานายพิชัย ได้ทำ MOU ระหว่าง อบจ. กับ ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทองนายกทันตแพทยสภา และ ดร.ชนากานต์ เพื่อถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 61 พรรษา
นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ. ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่
19 ตุลาคม 2564 โดยมีคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายกำกับดูแลและพัฒนางาน ด้านสาธารณสุขของ อบจ. พร้อมจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่และการจัดบริการ สาธารณสุข ให้สอด คล้องปัญหาด้านสุขภาพและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ มีนายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ.เชียงใหม่ นายบุญโสต สมมนุษย์ประธานสันนิบาตเทศบาล จ.เชียงใหม่ ร่วมลงนามดังกล่าว

ทั้งนี้ อปท. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากของประชาชน เพื่อพัฒนาและยกบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ระดับท้องถิ่น ภายใต้การส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาการให้บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยใช้พลังงาน ทางเลือก พัฒนาเป็นรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) นำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อ สนับสนุน อบจ.เป็นจังหวัดต้นแบบ หรือนำร่อง ในการพัฒนาและประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายสมชาติ กล่าวว่า เนื่องด้วยพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่มักประสบปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM 2.5 ทุกปี ช่วงเดือนมกราคม ถึงพฤษภาคม ส่งผลกระทบทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว ปัจจัยหลักของปัญหาประกอบด้วย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางภูมิอากาศ และ อุตุนิยมวิทยา และแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ สำหรับปัจจัยทางกายภาพพื้นที่เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในแอ่งกระทะถูกล้อมรอบด้วยแนวภูเขาสูง จึงเอื้อต่อการกักตัวของสารมลพิษในอากาศ ประกอบกับสภาวะอากาศนิ่งในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ฝุ่นละอองแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานโดยไม่ตกลงสู่พื้นดินและไม่แพร่กระจายออกไป

ส่วนแหล่ง กำเนิดหลักมาจากการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตร การเผาในพื้นที่ป่า ถึงมลพิษจากการจราจรขนส่ง และยานพาหนะ ดังนั้นการลดคาร์บอนเครดิต ที่ส่งผลกระทบต่อก๊าซเรือนกระจก และโลกร้อน จึงมีความจำเป็น เพื่อรักษาความสมดุลของสภาวะอากาศ และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติด้วย