สอศ. ผนึกกำลัง MOU 10 ภาคเอกชนด้านธุรกิจและบริการอาหาร ยกระดับผู้เรียน มีงานทำ มีรายได้ มีความสุข

วันที่ 25 กันยายน 2566 นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สถานประกอบการเครือข่ายภาคธุรกิจและบริการอาหาร ภายใต้การขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร โดยมี นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ คุณปัทมาวลัย รัตนพล กรรมการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และประธานคณะอนุกรรมการการอาชีวศึกษาด้านความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา คุณสุภาวดี หุตะสิงห หัวหน้าคณะที่ปรึกษาบริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) รองประธานสายพัฒนาทรัพยากรบุคคลและศูนย์การเรียนบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และประธาน อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร นายสุพจน์ ทองเหลือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา เลขานุการ อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ สถานประกอบการเครือข่ายภาคธุรกิจและบริการอาหาร 10 แห่ง ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพมหานคร

นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมมือกับสถานประกอบการ 10 แห่ง ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ สอศ. ในการขยายภาคีเครือข่าย โดยร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะวิชาชีพด้วยการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อตอบโจทย์ในด้านการพัฒนากำลังคนที่ตรงตามสมรรถนะวิชาชีพ กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาครู บุคลากร และครูฝึกในสถานประกอบการ และด้านการผลิตกำลังคนให้มีความสอดคล้องทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อต่อยอดและพัฒนา New Skill ให้ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ

นายสง่า แต่เชื้อสาย กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือดังกล่าว มีนักเรียน นักศึกษา ในระบบทวิภาคี และฝึกงาน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพในหน่วยงานต่าง ๆ ของสถานประกอบการ นับเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้จากตำราเรียนหรือห้องเรียน จึงเชื่อมั่นได้ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ ทั้งต่อการพัฒนาการศึกษาสายวิชาชีพให้มีศักยภาพ นำไปสู่การผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงอย่างมีคุณภาพ จบแล้วมีงานทำ มีรายได้ มีความสุข ยกระดับมาตรฐานกลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหารสู่สากล ตรงกับตามความต้องการของสถานประกอบการ พร้อมเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาในการพัฒนาประเทศต่อไป

ด้าน คุณสุภาวดี หุตะสิงห กล่าวว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนภายใต้ระบบกลไกการจัดอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน มีโอกาสทางการศึกษา มีงานทำ มีอาชีพหลังจากจบการศึกษาทันที ส่งผลให้มีการขยายตัวและเติบโตในภาคธุรกิจและบริการอาหาร เนื่องจากอาหารเป็น Soft Power ของประเทศไทย (Food) และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ การที่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ได้เข้าร่วมฝึกงานร่วมกับบริษัทในกลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร ทั่วประเทศ จะสร้างความเข้มแข็ง มีความก้าวหน้าในอาชีพ และเป็นการพัฒนานักเรียน นักศึกษาให้มีทักษะ และสมรรถนะสูงต่อไป

ทั้งนี้ มีสถานประกอบการเครือข่ายภาคธุรกิจและบริการอาหาร ทั้ง 10 แห่ง ดังนี้ 1. บริษัท เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)2. บริษัท ทิพย์อุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 3. บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด 4. บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด 5. บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด 6. บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) 8. บริษัท ซูกิชิ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด 9. บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป และ10. บริษัท บุญบารมี 4289 จำกัด ร่วมลงนาม